AIS The Startup ชวน Startup เพิ่มความรู้เรื่อง ESG ช่วย สร้าง-เสริม-ต่อยอด วิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินมูลค่าธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

เรื่องของ ESG ถือเป็นเทรนด์ของโลกธุรกิจที่นับวันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนตระหนักว่า การสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน หมายรวมถึงการสร้างสมดุลระหว่าง การเดินหน้าของธุรกิจ ที่ต้องทำไปพร้อมๆกับการเดินหน้าสร้างประโยชน์ที่จะเกิดต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์กรอย่าง Startup ที่ที่ถือเป็นภาคธุรกิจที่เริ่มต้นจากขนาดเล็ก  เริ่มต้นเพียงไม่กี่คน ก่อนจะขยายเติบโตไปเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ก็ต้องเข้าใจ ESG ไม่ต่างกัน

แต่ถ้าถามความพร้อมของ Startup ในการนำเอาแนวคิด ESG ไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ ก็ต้องยอมรับว่า หลายคนภาพอาจจะยังไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร

AIS The StartUp ในฐานะหน่วยงานที่อยู่เคียงข้างและให้การสนับสนุน Startup มานาน จึงเห็นว่า Startup ต้องได้รับการส่งเสริมด้าน ESG ให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างธุรกิจได้อย่างเห็นผล และส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันที่เรียกว่า Partnership for Inclusive Growth

G Governance สิ่งที่ Startup ต้องเน้นที่สุด

ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp บอกว่า สาระสำคัญคือการผลักดัน Startup ให้เข้าใจเรื่อง ESG มากขึ้น เราจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) ภายใต้โครงการ ESG to Capital for Tech Entrepreneurs เน้นไปที่การวิเคราะห์ความเสี่ยงการลงทุนและการประเมินมูลค่าบริษัท

ดังนั้น ส่วนของตัว G หรือ Governance แปลว่า ธรรมาภิบาล คือส่วนที่สำคัญที่สุดที่ Startup ต้องให้ความสนใจ ซึ่งมีหลายส่วน อาทิ ธรรมาภิบาลองค์กร (Corporate Governance), ธรรมาภิบาลการสร้างพันธมิตร (Partnership Governance), ธรรมาภิบาลทางการเงิน (Financial Governance) หรือ การกำกับดูแลผู้ถือหุ้น (Shareholder Governance) เป็นต้น อันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะได้รับความเชื่อมั่น และพร้อมทางการแข่งขันในตลาดทุน

“ถ้า Startup ต้องการระดมทุนจากนักลงทุน ตัว G คือส่วนสำคัญที่สุด ต้องเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล แปลให้ง่ายว่าต้องสามารถตรวจสอบการดำเนินธุรกิจได้ โปร่งใส มีการทำบัญชีที่ถูกต้อง มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน นี่คือ สิ่งที่นักลงทุนจะพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก”

ธุรกิจต้องทำ ESG ให้ถูกต้องและถูกเวลา

ศรีหทัย บอกว่า หัวใจสำคัญของการทำ ESG มี 2 ส่วน คือ ต้องทำให้ถูกต้อง และทำให้ถูกเวลา โดยส่วนแรกคือการทำให้ถูกต้อง อาศัยความรู้ เช่น ลดการใช้กระดาษ เป็นเรื่องของ E Environment ให้ความช่วยเหลือกับสังคม เป็นเรื่อง S Social และการเป็นบริษัทที่มีรายได้มีการเติบโต ทำธุรกิจอยู่รอดได้ เป็นเรื่องของ G Governance นี่คือเรื่องของการทำให้ถูกต้อง

แต่เรื่องการทำให้ถูกเวลา เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ถ้าเน้นเรื่อง E กับ S เป็นพิเศษก็ถือเป็นเรื่องดีแต่ทั้ง 2 ส่วนนี้อาจจะเชื่อมโยงไปถึงนักลงทุนได้น้อย ดังนั้นต้องรู้ว่าเวลาไหนควรเน้นเรื่องอะไร

“ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ การเน้น G เป็นหลัก จะเป็นการวางรากฐานที่แข็งแรงไปสู่อนาคต ถ้าโมเดลธุรกิจดีกับหลายๆ ส่วน แต่ไม่ดีกับสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำทันที Startup ต้องมองเรื่องหารายได้ เรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคม เป็นเรื่องเดียวกัน”

มุมมองจาก Startup ในโครงการ กับประโยชน์ที่ได้รับ

ปกติแล้ว Startup จะมองด้านอื่นๆ เป็นหลัก เช่น การหาลูกค้า การหารายได้ การสร้างการเติบโต จนลืมคำนึงถึง ESG แต่ตอนนี้เห็นแล้วว่า ESG คือกลยุทธ์ และเป็นการวางเพื่ออนาคต การเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ คือโอกาสที่ Statup สร้างได้ด้วยตัวเอง

ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง  บริษัทไอแท็กซ์ อินคอเปอร์เรชั่น จำกัด บอกว่า เดิม Startup จะคิดว่าเข้าใจเรื่อง ESG แล้ว แต่พอมาเข้าร่วมโครงการก็เห็นมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้เห็นว่า ESG สามารถผสมผสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจ สร้างจุดเด่นที่ได้เปรียบให้กับธุรกิจได้ ซึ่งส่วนสำคัญคือ Governance คือ ทำธุรกิจที่รับผิดชอบกับทุกอย่าง พอเข้าใจคำนี้คำเดียว เปลี่ยนวิธีคิดการทำธุรกิจไปจากเดิมเยอะเลย

มยุรี อรุณวรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด บอกว่า สิ่งแรกที่ Startup หลายรายมองข้ามในเรื่อง ESG คือ การทำให้ธุรกิจแข็งแรงและอยู่ด้วยตัวเองได้ ถ้าสามารถบริหาร ESG ได้ ประเมินความเสี่ยงได้ งานที่เราทำช่วยให้ลูกค้าตอบโจทย์ ESG ของเขาเองได้ดีขึ้นด้วย

กฤษฎา ชุตินธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ร่วมก่อตั้ง  บริษัทโฟลว์แอคเค้าท์ จำกัด บอกว่า บางคนอาจคิดว่า ESG ไกลตัว แต่จริงๆ เป็นสิ่งที่ทำมาตลอดอยู่แล้ว และต้องทำให้ดีขึ้น เช่นเรื่อง Social และ Governance กรณีของ Flow Account พัฒนาซอฟต์แวร์บัญชีที่มีค่าบริการถูกทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ SME ในสังคมสามารถนำไปใช้งาน สร้าง Governance ให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้าง

3 เดือนเต็ม สร้าง-เสริม-ต่อยอด เรื่อง ESG

สำหรับโครงการ ESG to Capital for Tech Entrepreneurs เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ AIS The StartUp ที่ต้องการเพิ่มพลัง เพิ่มทักษะให้กับ Startup ได้มีความเข้าใจเรื่อง ESG เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินงาน ESG ด้วยเนื้อหาที่มีความเข้มข้นจากพาร์ทเนอร์และวิทยากรจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนตลอด 3 เดือนเต็ม โดยมีภารกิจ 3 ส่วนหลัก คือ สร้าง-เสริม-ต่อยอด

สร้าง – เป็นการสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจทั้งพนักงาน คู่ค้า และชุมชน โดยเฉพาะด้าน Governance ธรรมาภิบาล ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่นักลงทุนใช้เพื่อประเมินมูลค่าบริษัท และตรวจสอบว่าธุรกิจมีการจัดการบริหาร การกำกับดูแลเพื่อประเมินความเสี่ยง และสามารถจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียได้มากน้อยขนาดไหน

เสริม – เป็นการเสริมศักยภาพการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการลงทุนและการดำเนินธุรกิจด้วยการมีรากฐานและวางกลยุทธ์ธุรกิจตามหลักการ ESG ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปแบบและขนาดของบริษัท

ต่อยอด – นำเอาแนวทาง ESG มาประยุกต์ใช้ในองค์กร และสร้างเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขัน พร้อมกับเติบโตได้อย่างยั่งยืนในตลาดทุนต่อไป

บทสรุป ESG คือสิ่งที่ต้องอยู่ใน DNA ธุรกิจยุคใหม่

ศรีหทัย สรุปว่า หัวใจสำคัญของโครงการคือ ทำให้ Startup รู้และเข้าใจ มองเห็นทิศทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แน่นอนว่าการช่วยเหลือในทางธุรกิจ การให้เครื่องมือดิจิทัล การช่วยทำตลาด การเข้าถึงฐานลูกค้าเป็นส่วนสำคัญพื้นฐาน แต่ ESG ก็เป็นส่วนที่สำคัญและขาดไม่ได้เช่นกัน เป็นหลักในการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน หรือ Partnership for Inclusive Growth

ดังนั้น Startup ต้องหันมาใส่ใจกับการวางกลยุทธ์ ESG ทำธุรกิจให้แข็งแรง ลดความเสี่ยง เตรียมความพร้อม เปิดประตูโอกาสการเข้าสู่ตลาดทุนและขยายขนาดการเติบโตขององค์กรได้ต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา