สรุปประเด็น! เมื่อ AIS เปิดเกมรุกทันที จัดแถลงข่าว “ประกาศแผนพัฒนาเครือข่าย และการตลาดทั่วประเทศ” หลังลงทุนเครือข่ายครั้งใหญ่ ด้วยการประมูลคลื่น 1800MHz เข้ามาเพิ่มอีก 10MHZ (5 MHz X 2) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561
ใจความสำคัญ คือ
- ส่งผลให้ AIS มีคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งเป็นคลื่นหลักสำหรับให้บริการ 4G มากที่สุด จำนวน 40 MHz (20MHz x 2)
- AIS รั้งตำแหน่ง ค่ายมือถือที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดในอุตสาหกรรม ถึง 120 MHz (60MHz x 2)
ข่าวดีของลูกค้าเอไอเอส คือ คลื่น 1800MHz ที่เพิ่มมาใหม่นี้ พร้อมให้บริการทันที! (ที่ได้รับใบอนุญาต) โดยไม่ต้องตั้งสถานีฐานใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 98% ทั่วไทย! สามารถรองรับมือถือ 4G ได้ทุกรุ่น และทำให้ความเร็วของการใช้งาน 4G ของลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 15–30%!
รายละเอียดอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง Brand Inside สรุปสาระสำคัญมาให้แล้ว
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส เผยว่า “การประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้ มีความสำคัญและมุ่งหมายเพื่อเสริมคุณภาพบริการดาต้าในยุค 4G ให้สูงขึ้น และยกระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยถือเป็นทางเลือกที่ให้ประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดสำหรับการขยายความจุโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของ 4G โดยเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณจากที่มีอยู่เดิมและใช้ได้กับอุปกรณ์โครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 MHz ที่ลงทุนไปแล้ว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทในการให้บริการและเตรียมความพร้อมก้าวสู่เทคโนโลยี 5G”
การชนะการประมูลคลื่น 1800MHz รอบนี้ตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะคลื่นความถี่ที่ได้เพิ่มมา 10MHz(5MHz x 2) เมื่อรวมกับคลื่นเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 30MHz(15MHz x 2) ทำให้ตอนนี้ AIS มีคลื่นความถี่ 1800MHz ที่ยาวต่อเนื่องกันจำนวน 40MHz (20MHz x 2) ซึ่งเต็มประสิทธิภาพของคลื่นความถี่ ที่เรียกว่า “Super Block” คือมีความถี่ติดกันที่มากที่สุดที่มือถือจะรองรับได้
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส เปิดเผยว่า “จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพิ่มทำให้ปัจจุบันเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มากที่สุด และเป็นรายเดียวที่มีคลื่นต่อเนื่องกันถึง 40 MHz (20 MHz X 2) เรียกว่าเป็น แบนด์วิธคลื่นสำหรับให้บริการ 4G ในระบบ FDD ที่กว้างที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งปกติคลื่น 1 บล็อก จะมีความกว้างจำนวน 40MHz (20MHz x 2) เท่ากับเอไอเอส ได้คลื่นความถี่มาแบบเต็มความกว้าง 40MHz จึงเรียกว่า Super Block ”
หลายคนอาจสงสัยว่า เคยเห็นในข่าวเรื่องการนับจำนวนคลื่นที่ต่างกัน บางครั้งต้องคูณ 2 บางครั้งไม่ต้องคูณ สรุปแล้วที่ถูกต้องคือยังไง ?
ทางเอไอเอส จึงอธิบายให้ฟังแบบเคลียร์ๆ ว่า…บ้านเรา มีให้บริการเครือข่ายมือถืออยู่ 2 ระบบ
โดยระบบที่ส่วนใหญ่ใช้ จะเรียกว่า FDD : Frequency Division Duplexing ซึ่งสามารถรับ-ส่งข้อมูล (Uplink/Downlink) ได้ในเวลาเดียวกัน เสมือนมีถนน 2 เส้น จึงต้องมีการคูณ 2 เพื่อแสดงจำนวนคลื่นความที่ที่ครบถ้วน สะท้อนการใช้งานที่แท้จริง
ส่วนระบบ TDD : Time Division Duplexing เป็นการ “สลับ” การรับส่งข้อมูลบนถนนเส้นเดียวกัน ดังนั้นไม่จำต้องคูณสอง โดยคลื่น 1800MHz ที่ AIS มีอยู่เป็นแบบ FDD มีแบนด์วิธขาส่ง Uplink Frequency และขารับ Downlink Frequency รวมแล้ว 40MHz (20MHz x 2)
Super Block ของคลื่น 1800MHz ส่งผลดีอย่างไร?
- คลื่นความถี่ 1800MHz ที่กว้างขึ้นทัน ที่ทำให้เครือข่าย 4G เร็วขึ้น 15–30% เช่น ความเร็ว 4G จากเดิมเฉลี่ย 300Mbps เพิ่มเป็น 390 Mbps
- รองรับผู้ใช้บริการได้มากขึ้น 33%
- คลื่นความถี่ 1800MHz ที่ได้มาเพิ่ม ไม่จำเป็นจะต้องติดตั้งสถานีฐานหรืออุปกรณ์ใหม่ พร้อมใช้งานได้ทันที มีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่กว่า 98% ทั่วประเทศ
- ทำให้ AIS เป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากสุดในอุตสาหกรรม รวม 120MHz (60MHz X 2) เนื่องจากเป็นเครือข่ายระบบ FDD จึงรวม Uplink Frequency และ Downlink Frequency มาให้บริการ
- แบ่งเป็นความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. 90MHz (45MHz X 2) ประกอบด้วยคลื่นความถี่ 1800MHz จำนวน 40MHz (20MHz X 2) คลื่นความถี่ 2100MHz จำนวน 30MHz (15 MHz X 2) และคลื่นความถี่ 900MHz อีก จำนวน 20MHz (10MHz X 2)
- และมีส่วนที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT คือ คลื่นความถี่ 2100MHz อีก 30MHz (15MHz X 2)
“โดยเอไอเอสพร้อมนำคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ประมูลมาได้เพิ่มในครั้งนี้ เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และภายหลังจากบริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการอย่างครบถ้วน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล และหลังจากที่คลื่นนี้จะหมดสัญญาสัมปทานเดิม” ปรัธนากล่าว
คลื่น 1800MHz รองรับมือถือทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง High End หรือ New Entry มือถือราคาหลักพัน ก็สามารถใช้งานได้ และทำให้ลูกค้าทั่วประเทศ ที่ถือโทรศัพท์ 4G ทุกรุ่น ได้ใช้งาน 4G ที่เร็วขึ้น แรงขึ้นโดยอัตโนมัติ บนมือถือเครื่องเดิม โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
- นอกจากการให้บริการมือถือแล้ว AIS ได้ต่อยอดสู่ Internet of Things (IoT) โดยเครือข่ายNB–IoT ที่เอไอเอสเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่นั้น ใช้คลื่นความถี่ 900MHz
- ล่าสุด เอไอเอสเป็นรายแรกในไทย เปิดเครือข่ายใหม่ชื่อว่า eMTC : enhanced Machine Type Communications ซึ่งนำมาใช้กับ IoT เช่นกัน บนความถี่ 1800MHz
- เพราะฉะนั้นความถี่ 1800MHz ที่ได้มาเพิ่มขึ้น นอกจากจะรองรับการใช้งานมือถือแล้ว ยังรองรับการใช้งาน IoT ได้ด้วย
- ทางสมาคม GSMA จึงได้รับรองให้ AIS เป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีเครือข่าย eMTC และ NB-IoT ครอบคลุมทั่วประเทศเป็นรายแรก และรายเดียวในไทย
ตอกย้ำภาพลักษณ์เครือข่ายอันดับหนึ่งในไทยทั้งในเรื่องแบรนด์ และคุณภาพเครือข่าย ซึ่งการขยายคลื่นความถี่ครั้งนี้ เท่ากับว่าเอไอเอสจะสามารถรองรับการใช้งานที่สูงขึ้น สอดรับกับพฤติกรรมของคนไทยที่มีแนวโน้มใช้งานดาต้าสูงขึ้นมหาศาล รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอไอเอส เหนือคู่แข่งไปอีกขั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา