ยักษ์ใหญ่ปรับตัว AIS ปั้นสตาร์ทอัพจากพนักงานในองค์กร ถ้าสำเร็จ-ไปได้สวย แยกเป็นบริษัทลูก

AIS NEXT
ภาพการ Pitching ของ INNOJUMP ที่อยู่ภายใต้หน่วยงาน NEXT ของ AIS

ทำความรู้จัก NEXT หน่วยงานของ AIS ที่คอยปั้นพนักงานสู่ “สตาร์ทอัพ”

AIS จัดงานแถลงข่าวเล่าถึงหน่วยงานด้านการพัฒนาภายในองค์กรด้านนวัตกรรม โดยในปัจจุบันใช้ชื่อว่า Novel Engine Execution Team หรือเรียกย่อๆ ว่า “NEXT”

หน่วยงานนวัตกรรม NEXT ของ AIS ทำอะไรบ้าง?

  • AIS บอกว่า NEXT ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่กระตุ้นให้เกิดการนำแนวคิด Innovation มาใช้ในการสร้างวัฒนธรรมของการทำงาน 
  • กระตุ้นให้เกิดการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ผ่านโครงการ อย่างเช่น InnoJump เพื่อให้พนักงานทุกระดับชั้นมีช่องทางในการสร้างสรรค์ไอเดีย รวมถึงสร้างบรรยากาศ Innovation Culture ในองค์กรผ่านการจัดทำกิจกรรม Workshop
  • เป็น Internal VC และ Incubator ดึงไอเดียจากพนักงานในองค์กรมานำเสนอ และเข้าสู่กระบวนการ Pitching เหมือนกับสตาร์ทอัพทุกประการ และหลังจากนั้นเมื่อผ่านการพิจารณา AIS จะมีงบประมาณให้ไปสร้างเป็น Prototype สุดท้ายนำไปต่อยอดเป็น Beta Product และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวอร์ชั่นจริง และนำออกไปขายสู่ตลาดได้

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม (Head of NEXT) บอกว่า “เวลาเราพูดคำว่านวัตกรรม มันเหมือนเป็นคำที่ค่อนข้างนามธรรม ดังนั้นทีมเราจึงมองว่า Innovation คือ Adaptability หรือความสามารถที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ธุรกิจในอนาคตของ AIS คือการกินแบ่งไม่กินรวบ แน่นอนเรา AIS จะไม่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีการ partnership กับคนอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร”

อันที่จริงแล้วหน่วยงานนี้เป็นโครงการลับของ AIS มากว่า 2 ปีแล้ว ช่วงแรกมีพนักงานเพียง 40 คน ปัจจุบันขยายสู่ 190 คน หน่วยงานนี้จะได้รับงบประมาณปีละ 100 ล้านบาทจาก AIS โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม ลองผิด-ลองถูก และที่สำคัญหากทีมใดประสบความสำเร็จ จะทำการแยกธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นออกมาเป็นบริษัทย่อยหรือบริษัทลูกของ AIS

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม (Head of NEXT)
อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม (Head of NEXT) และทีมงาน

กรณีศึกษา School Van Clever: สตาร์ทอัพจากพนักงานของ AIS ที่สำเร็จ

กว่า 2 ปีที่ทีม NEXT ก่อตั้งขึ้นมา AIS บอกว่ามีพนักงานส่งผลงานเข้าร่วมให้พิจารณากว่า 200 ไอเดีย โดยในจำนวนนี้ได้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนไปขยายผลต่อจำนวน 11 โครงการ

  • หนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จและกำลังไปได้สวยคือ School Van Clever

School Van Clever เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของพนักงานเอไอเอสจากภาคใต้ โดยริเริ่มแนวคิดมาจากเรื่อง “ความปลอดภัยของรถตู้รับส่งนักเรียน” จากนั้นได้เข้าโครงการ INNOJUMP (ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพภายใต้การดูแลของ NEXT) จนในท้ายที่สุดมาสร้างนวัตกรรมที่ผู้ปกครองสามารถใช้ในการติดตามดูแลบุตรหลานได้อย่างเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยีกล้องมองภาพในรถยนต์ รวมถึงเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และจะส่งผลนั้น ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ช่วยควบคุมการรับส่งนักเรียนอย่างเป็นระบบ

  • พูดง่ายๆ คือ ผู้ปกครองสามารถ track ดูบุตรหลานผ่านแอพพลิเคชั่นของทีม School Van Clever ได้ตลอดเวลา ทำให้หมดห่วงเรื่องความปลอดภัย

ทีม School Van Clever ระบุว่า หลังจากที่ได้นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนทางภาคใต้ พบว่า ได้รับการยอมรับจากทั้งครู ผู้ปกครอง เด็ก และคนขับรถตู้โดยสารว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจ และทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

จากการสัมภาษณ์ พบว่า ทีม School Van Clever ใช้เงินทุนจากการสร้างนวัตกรรมและนำไปทดลองใช้ไม่เกิน 500,000 บาท โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการนำไปขายสู่ตลาดจริง ซึ่งทางทีมวางแผนไว้ว่าจะเปิดตัวบริการภายในปีนี้ และจะทำตลาดให้ได้ถึง 250 โรงเรียน และจะขยายไปอีก 400 โรงเรียนในปี 2020 (มากกว่านั้น ทางทีมยังมองไปถึงโอกาสในตลาดรถตู้เอกชนที่มีอยู่จำนวนมหาศาลในประเทศไทย)

AIS บอกว่า ในปัจจุบันกำลังพิจารณาให้มีการแยกสตาร์ทอัพของทีม School Van Clever ออกมาเป็นธุรกิจใหม่ โดยจะอยู่ภายใต้ Enterprise Business ของบริษัท ซึ่งนั่นหมายความว่า ทีมงานที่ในขณะนี้เป็นพนักงานของ AIS อยู่ แต่เมื่อแยกธุรกิจออกมา ทีมงานผู้ร่วมก่อตั้งจะได้ตำแหน่งใหม่เป็นซีอีโอและผู้บริหารของบริษัทตัวเอง แต่ยังคงอยู่ภายใต้ AIS ในฐานะบริษัทลูก

อย่างไรก็ตาม แม้การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นเรื่องของพนักงานในองค์ที่มารวมตัวกันเป็นทีม และได้รับคำแนะนำจากหน่วยงาน NEXT แต่การทำการตลาดทั้งหมด จะมีทีมงานของ AIS เข้ามาช่วยในส่วนนี้

ทีมงาน School Van Clever
ทีมงาน School Van Clever
หน้าตาแอพพลิเคชั่นของ School Van Clever
หน้าตาแอพพลิเคชั่นของ School Van Clever

คำถามคือทำขนาดนี้ แล้ว AIS ได้อะไร?

ใครๆ ก็ทราบดีว่า AIS ทำธุรกิจโทรคมนาคม ให้บริการด้านการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต เหตุใดจะต้องมาปั้นสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันเลย!

AIS บอกแบบนี้ว่า ตลาดโทรคมนาคมถึงที่สุดก็ตัน ไปต่อไม่ได้ ถ้า AIS จำกัดกรอบการคิดทางธุรกิจไว้เพียงแค่โทรคมนาคม มากที่สุดทีมงานอาจคิดได้เพียงว่า “ถึงเวลาต้องขยายตลาดไปขายซิมในต่างประเทศ” ซึ่งเอาเข้าจริงมันเป็นตลาดที่ไม่ยั่งยืน อยู่รอดไม่ได้ในอนาคต

หนทางของการอยู่รอดคือการปรับตัวไปสู่บริการอื่นๆ หรือบริการใหม่ๆ และหนึ่งในนั้นคือการปั้นสตาร์ทอัพจากคนในองค์กรของ AIS เพราะนี่คือหนึ่งในแผนสำคัญที่ AIS ต้องการ Transform ธุรกิจ

  • พูดง่ายๆ คือ ทั้งหมดนี้เป็นแผนของการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจ Telecom ไปสู่การเป็น Digital Life Service Provider

เพราะถึงที่สุด AIS ไม่ต้องการเป็นเพียงบริษัทโทรคมนาคม แต่ต้องการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิตลูกค้านั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา