เรียกว่าเป็นศึกช่วงชิงความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี หลังจากที่รายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ขยับไปอยู่ที่บริการดาต้า หรืออินเทอร์เน็ตมากขึ้น และแนวโน้มทั่วโลกด้าน Internet of Thing หรือ IoT ก็มาอย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่เห็นในไทยมากนัก แต่การเปิดตัวก่อนคนอื่นก็สร้างความได้เปรียบอยู่ไม่น้อย
และเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น AIS จึงได้เปิดตัวเครือข่ายอัจฉริยะ Narrow Band Internet of Thing : NB-IoT LIVE ซึ่งถือว่าจะมาจุดประกาย IoT และ Smart City ซึ่งแนวคิดเรื่อง Smart City มีการพูดกันมาหลายปีแล้ว แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดๆ จริงๆ ยังไม่มี ซึ่งการมีเครือข่ายที่พร้อมรองรับและเมื่อนำมาใช้งานจริง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น
เครือข่ายใหม่ NB-IoT เพื่อ Internet of Thing โดยเฉพาะ
ฮุย เวง ชอง กรรมการผู้อำนวยการ ของ AIS บอกว่า การใช้อินเทอร์เน็ตยังเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะโตกว่า 300% และตลาดที่โตมากที่สุดคือ Fix Broadband และการใช้งาน IoT ที่จะเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มแรกคือ Wearable และ Machine2Machine
โดยเฉพาะ Machine2Machine ที่ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้อุปกรณ์สาารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้อย่างดี ซึ่งเครือข่ายของ AIS คือ Narrow Band – Internet of Thing สามารถรองรับได้แบบเต็มประสิทธิภาพตามมาตรฐานระดับสากล พร้อมให้บริการได้ทันที หรือ LIVE Network
สำหรับจุดเด่นของ NB-IoT มีการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ทำให้อายุการใช้งานแบตเตอร์รี่ของอุปกรณ์อยู่ได้ยาวนาน ตัวเครือข่ายรองรับอุปกรณ์ IoT ได้สูงสุดระดับแสนตัวต่อสถานีฐาน มีรัศมีครอบคลุมกระจายได้มากกว่า 10 ก.ม. รวมถึงรับสัญญาณในอาคารได้ดี และเป็นเครือข่ายที่รองรับกับ 4G ในปัจจุบัน
และ AIS จะเปิดให้ชมการประยุกต์ใช้งาน ในการแถลง AIS VISION 2017 นี้
True จับมือหัวเว่ย เปิด True-Huawei IoT Open Lab
กลุ่มทรู ไม่น้อยหน้าแม้จะตามออกมาทีหลัง โดยได้ร่วมมือกับ หัวเว่ย ผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกันพัฒนาสร้างศูนย์ปฏิบัติการและพัฒนาเทคโนโลยี IoT True-Huawei IoT Open Lab แห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการวิจัยพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นการทำงานอัจฉริยะ IoT ต่างๆ จนสามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้บริการลูกค้าในเครือทรูเป็นหลัก
โดยผลงานแรกคือ เครือข่าย NB-IoT เช่นเดียวกับ AIS ใช้ใน Smart Parking, Smart Metering และเทคโนโลยี CAT-M1 เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีสำหรับ IoT เช่น Smart Transportation หรือ Asset Tracking
พรรคพงษ์ อัคนิวรรณ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านเทคนิค-คุณภาพโครงข่าย ของทรู บอกว่า IoT จะใช้สำหรับต่อยอดบริการคอนเวอร์เจนซ์ในกลุ่มทรูทั้งหมด พัฒนาบริการใหม่ เช่น Smart City, Smart Business, Smart Transport, Smart Home และ Smart Health รวมถึง Smart Platform for Sustainability ซึ่งการร่วมมือกับหัวเว่ย จะมีห้องสาธิตการทำงาน ห้องทำงานสำหรับพันธมิตร ห้องอุปกรณ์ Test Bed และกระบวนการจัดทำมาตรฐาน Integration & Certification
การวิจัยและพัฒนาอีโคซิสเต็ม IoT ในประเทศไทย โดยศูนย์ปฏิบัติการและพัฒนาเทคโนโลยี IoT True-Huawei IoT Open Lab จะเป็นไมล์สโตนสำคัญของทรูและหัวเว่ย
สรุป
AIS และ True ได้เปิดเทคโนโลยีใหม่ด้าน IoT ออกมาเพื่อตอกย้ำแนวโน้มด้าน IoT แม้จะยังไม่มีการนำมาใช้จริงในเร็วๆ นี้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะเริ่มมีการทดสอบให้บริการจริง และทำให้เห็นการแข่งขันที่เข้มข้นในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้ในอนาคตให้กับบริษัทด้านโทรคมนาคม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา