ปิดปี 2560 AIS ยังแข็งแกร่งทำกำไรได้ 30,077 ล้านบาท แม้จะลดลง -1.9% เมื่อเทียบกับปี 2559 และมีจำนวนผู้ใช้บริการลดลงกว่า 1 ล้านราย และอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วง กับความไม่แน่นอนบนการกำกับดูแลของ กสทช. แต่ในภาพรวม AIS ยังคงเป็นพี่ใหญ่ที่แข็งแรงที่สุด
เตรียมเงินลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท
แผนการลงทุนของ AIS ในปี 2561 ได้เตรียมเงินลงทุนขยายโครงข่าย 3.5 – 3.8 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือ ดาต้า เพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้า AIS รายเดือน ใช้ 8.3 กิกะไบต์ต่อเดือน ส่วนลูกค้าเติมเงิน ใช้ 6.2 กิกะไบต์ต่อเดือน เฉลี่ยแล้วลูกค้า 40 ล้านราย ใช้อินเทอร์เน็ต 6.7 กิกะไบต์ต่อเดือน
ดังนั้น AIS ยังต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับการขยายโครงข่ายไฟเบอร์ โดยปัจจุบันให้บริการได้ 50 จังหวัด โดยเป้าหมายของ AIS คือ การขึ้นเป็นผู้ให้บริการรายหลักภายในปี 2563 (อีก 3 ปีจากนี้) โดยจะต้องมีลูกค้ามากกว่า 2 ล้านราย จากปัจจุบันมีลูกค้า 521,200 ราย และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้นโครงข่ายต้องครอบคลุมมากขึ้น
จะทำให้ AIS มีโครงข่ายที่แข็งแรงทั้งไร้สายและมีสาย (Fixed-mobile convergence) และนำเสนอบริการคอนเทนต์ได้ดียิ่งขึ้น โดยตั้งเป้ารายได้จากการให้บริการเติบโต 7-8%
ภาพรวม AIS ยังเหนื่อย อุตสาหกรรมโทรคมยังดุเดือด
แกะตัวเลขรายได้รวมจากการให้บริการปี 2560 ของ AIS อยู่ที่ 128,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% โดยสัดส่วน 97.6% มาจากโทรศัพท์มือถือ โดยรายได้จากการโทรลดลง 16% เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าโทร และทำให้รายได้จากดาต้าเพิ่มขึ้น 19%
ส่วน AIS Fibre มีสัดส่วน 2.4% จากรายได้รวมหรือประมาณ 3,128 ล้านบาท เติบโตขึ้น 264% แต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2560 จำนวนลูกค้าใหม่ชะลอ เพราะมีการเก็บค่าแรกเข้า 650 บาท คือค่ากล่องสัญญาณทีวีตัวใหม่ ซึ่งหากลูกค้าเดิมต้องการใช้ ต้องจ่ายเงินซื้อด้วย
สำหรับภาระของ AIS ในปี 2561 มีค่าใบอนุญาตรวมคลื่น 900 และ 1800MHz ประมาณ 14,000 ล้านบาท จากที่ชำระไปแล้วในปี 2560 ประมาณ 10,247 ล้านบาท และได้ยื่นหนังสือเสนอต่อ กสทช. ให้แบ่งงวดชำระค่าใบอนุญาตที่เหลือ
โดยเฉพาะคลื่น 900 AIS (รวมถึง True ด้วย) มีภาระต้องชำระค่างวดในปีนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท และงวดสุดท้าย ปี 2562 ประมาณ 60,000 ล้านบาท จากยอดรวมที่ชนะประมูล 76,000 ล้านบาท โดยได้ขอให้แบ่งชำระเป็น 5 งวดเท่าๆ กัน หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระการชำระหนี้
ขณะที่ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม dtac ได้ประกาศผลประกอบการมาก่อนหน้านี้ มีกำไร 2,100 ล้านบาท แต่ยังต้องเตรียมรับมือกับการประมูลคลื่นความถี่ ส่วน True ผลประกอบการยังไม่ออกแต่มีหนี้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก้อนใหญ่เช่นเดียวกับ AIS จึงคาดได้ว่าปีนี้ยังเป็นปีที่ดุเดือดเช่นเดิม
สรุปผลประกอบการ AIS 2560
- กำไรสุทธิ 30,077 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมา -1.9% จากปี 2559 กำไร 30,667 ล้านบาท
- จำนวนผู้ใช้รายเดือนประมาณ 7.3 ล้านราย เพิ่มจากปี 59 ที่ 6.4 ล้านราย แต่จำนวนผู้ใช้แบบเติมเงินประมาณ 32 ล้านราย ลดลงจากปี 59 ที่ 34 ล้านราย หรือ หายไปเกือบ 2 ล้านราย ทำให้จำนวนผู้ใช้รวมของ AIS ลดลงเหลือประมาณ 40 ล้านราย จากปี 59 ประมาณ 41 ล้านราย
- ยอดการใช้ดาต้าต่อเลขหมายต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 6.7 กิกะไบต์ จากปี 59 อยู่ที่ 3.6 กิกะไบต์ ด้วยอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น คอนเทนต์ให้เลือกมากมาย และค่าบริการที่ต่ำลง ทำให้คนใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
- AIS Fibre มีผู้ใช้บริการ 521,200 ราย เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ประมาณ 39,700 ราย
สรุป
แม้จำนวนผู้ใช้บริการรวมจะลดลงบ้าง แต่ลดจากระบบเติมเงินซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ผู้ใช้แบบรายเดือนเพิ่มขึ้นเกือบล้านราย ถือเป็นสัญญาณที่ดี และในภาพรวม AIS ยังแข็งแกร่ง แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ รายได้จากบริการคอนเทนต์ใน AIS PLAY เช่น HBO GO หรือ NBA ที่อาจยังไม่สามารถสร้างรายได้ให้เห็นเพราะเพิ่งเริ่มทำตลาดปี 2017 แล้วปีนี้ AIS จะเดินหน้าอย่างไร ต้องติดตาม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา