EEC เริ่มแล้ว! “สนามบินอู่ตะเภา” ผนึก “เอไอเอส” แลนด์ดิ้งนวัตกรรมสุดล้ำ ใน Smart Terminal พร้อมใช้จริง มกรา 62

เป็นอีกหลักหมุดสำคัญของ AIS หลังได้รับความไว้วางใจให้พัฒนาระบบ Smart Terminal ที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 “ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา” เพื่อนำนวัตกรรมสุดล้ำต่างๆ มาให้ผู้โดยสารใช้งาน และนำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการภายใน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาสนามบินแห่งนี้ให้ทันสมัยเทียบเท่าสนามบินชั้นนำระดับโลก

ก้าวใหม่กับงานนวัตกรรมในสนามบิน

ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะกลายเป็นอีกจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว และระบบ Logistic เพราะเมื่อถึงเวลาหลังจากที่เปิดใช้อาคารเทอมินัล 3 จะถูกวางเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้ากับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ยิ่งสนามบินแห่งนี้อยู่ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็ยิ่งต้องทำให้สนามบินแห่งนี้เป็นมากกว่าที่รับส่งผู้โดยสารแบบเหมาลำเหมือนในอดีต

นั่นจึงเป็นที่มาของการยกระดับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ให้กลายเป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ Smart Terminal ภายใต้การนำของ “พลเรือตรี ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ และเพื่อให้การยกระดับครั้งนี้ทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุดจึงเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินงานด้วย

“การมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยน่าจะเป็นสิ่งที่ดีภายในสนามบิน ซึ่ง AIS ก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จึงตัดสินใจให้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบ Mobile Application, Video Analytics และระบบอื่นๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใน Terminal 2 ก่อน” พลเรือตรี ลือชัย กล่าว

แลนด์ดิ้งนวัตกรรมสุดล้ำ จัดเต็ม Smart Terminal

ดิจิทัลโซลูชันส์ ที่นำมาพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ “Smart Terminal” ในระยะแรก จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ

1). แอปพลิเคชัน U-Tapao ที่จะมีข้อมูลด้านการบิน และข้อมูลสนามบินแบบครบครันในแอปฯ เดียว อาทิ สถานะตารางการบิน บริการการเดินทางไปกลับสนามบิน บริการที่จอดรถ ฯลฯ รวมทั้งแผนที่แสดงจุดให้บริการต่างๆที่เสริมระบบการนำทางและการแสดงข้อมูลการบริการภายในสนามบินด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR)

2).เทคโนโลยี Video Analytics ประกอบด้วยเครือข่ายกล้องวงจรปิดทั่วอาคาร และโปรแกรมวิเคราะห์ประมวลผลภาพปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ประยุกต์ใช้เป็นระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Face Recognition) ในพื้นที่สนามบิน เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย เช่น กรณีบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัย หรือกรณีบุคคลสำคัญ เป็นต้น และระบบแสดงข้อมูลความหนาแน่นของผู้โดยสาร (Heat Map Analytics) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบรักษาความปลอดภัย และการบริหารจัดการของการท่าฯ

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เล่าให้ฟังว่า “อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4 ของปี 2561 ทำให้ระบบข้างต้นต้องเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลานั้นด้วย เพื่อยกระดับให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเป็น Intelligent Gateway of EEC

“ตอนนี้อู่ตะเภาเป็นสนามบินใหม่ ที่กำลังจะเปิดให้บริการทางพาณิชย์เต็มรูปแบบ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ดังนั้นเวลานี้จึงเป็นช่วงสำคัญ และเหมาะสมที่สุดในการเข้าไปดำเนินการพัฒนา ต่อยอด และยกระดับการบริหารจัดการในทุกๆ ส่วนให้พร้อมเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งระบบ Smart Terminal ที่เอไอเอสเข้าไปติดตั้งก็คาดการณ์จะแล้วเสร็จไตรมาส 4 ของปี 2561 นี้ เพื่อให้พร้อมใช้ได้ทันทีที่ Terminal 2 เปิด”

ย้ำความพร้อมของ AIS เดินหน้านำเทคโนโลยี พัฒนาประเทศ

ปัจจุบันทีมงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรมของ AIS นั้นมีหลักร้อยคน และมีองค์กรธุรกิจต่างๆ ในหลายหลายอุตสาหกรรม ที่ทำงานร่วมกันในฐานะเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อยกระดับการบริหารจัดการต่างๆ ด้วยดิจิทัล โดยก่อนหน้านี้เอไอเอสเคยนำร่องติดตั้งระบบที่คล้ายกันด้วยแนวคิด Smart City ในโครงการอสังหาฯ ทั้งหมู่บ้าน และคอนโด, โรงงานอุตสาหกรรม, ศูนย์ราชการต่างๆ และมหาวิทยาลัย ซึ่งเปิดให้บริการจริงแล้ว

“ที่สนามบินอู่ตะเภาเราจะเน้นเรื่องความปลอดภัย และเรื่องความสะดวกของผู้โดยสารก่อน ส่วนเรื่องระบบตรวจคนเข้าเมืองนั้นอาจเป็นเรื่องอนาคตเพื่อพัฒนาสู่ Smart Terminal ในทุกขั้นตอน ด้านการพัฒนานวัตกรรมไปใช้กับภาคธุรกิจนั้น AIS พร้อมสำหรับให้บริการ โดยมีโซลูชันส์ต่างๆ ที่เราทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิต และนักพัฒนามากมาย เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำเรื่องนวัตกรรม ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับประเทศในทุกๆ ภาคส่วน”

สรุป

เชื่อว่าโครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านนวัตกรรมของเอไอเอสในอีกมิติ นอกเหนือจากด้านการสื่อสารโทรคมนาคม จุดแข็งของเอไอเอส คือการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในฐานะพาร์ทเนอร์ ทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งฝั่งผู้ผลิต นักพัฒนา และผู้ประกอบการ ทำให้วันนี้มีบริการโซลูชันส์ต่างๆ ให้เราใช้งานกันอย่างเป็นรูปธรรม และทั้งที่อยู่เบื้องหลังการทำงานขององค์กรต่างๆ รวมทั้งขยายสู่การให้บริการในสเกลใหญ่ระดับประเทศ อย่างสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่าความมุ่งมั่น และความพร้อมของภาคเอกชน สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา