ก้าวต่อไปของ AIS จากการหนุน Startup ขยับสู่ Creator เน้นตลาดวิดีโอ

ais-video

AIS ถือเป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่ลงมาลุยตลาดสตาร์ตอัพในบ้านเรา โดยริเริ่มโครงการ AIS The Startup ทำตัวเป็น accelerator ช่วยปั้นสตาร์ตอัพหน้าใหม่ให้แข็งแกร่ง

แต่ในวันที่ “สตาร์ตอัพ” กลายเป็นคำพูดสามัญที่ใครๆ ก็พูดกันไปแล้ว ก้าวต่อไปของ AIS กำลังหมุนไปสู่ดาวรุ่งกลุ่มใหม่ที่มีศัพท์เรียกว่า “Creator”

Creator ในที่นี้หมายถึง “ผู้สร้างสรรค์” ซึ่งในความหมายทั่วไปหมายถึงงานสร้างสรรค์ งานครีเอทีฟประเภทใดก็ได้ แต่ในความหมายของ AIS นั้นชัดเจนว่าต้องการโฟกัสไปที่ “วิดีโอ” เป็นหลัก

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยน โอเปอเรเตอร์มุ่งสู่คอนเทนต์

ทิศทางนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเครือ Singtel แห่งสิงคโปร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสองของ AIS และถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ของโลก ที่สะท้อนสภาพความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลก ว่าทำแต่เครือข่ายอย่างเดียวไม่พอแล้ว โอเปอเรเตอร์ในยุคถัดไปต้องทำคอนเทนต์ด้วย

Oliver Foo ผู้บริหารฝ่าย Business Development & COE Programme ของ Singtel International Group พูดชัดเจนว่า “อนาคตของมือถือคือคอนเทนต์” และ “อนาคตของคอนเทนต์คือวิดีโอ” เพราะสถิติการใช้ mobile data ของผู้บริโภคทั่วเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ชี้ชัดว่าวิดีโอคิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของปริมาณ mobile data ของผู้ใช้

กลุ่ม Singtel มียุทธศาสตร์ด้านวิดีโอที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มจำนวน original content ให้มากขึ้น ส่งผลให้ทางกลุ่มโอเปอเรเตอร์ในสังกัด 6 ราย ร่วมกันจัดการแข่งขัน 5-Min Video Challenge ขึ้น โดยให้แต่ละประเทศจัดแข่งจนคัดเลือกตัวแทน 2 ราย รวม 12 ทีม มาแข่งขันหาผู้ชนะเลิศในระดับภูมิภาค (ผลการแข่งขัน) เป้าหมายของการแข่งขันครั้งนี้คือเฟ้นหาตัว creator ยอดฝีมือ กลุ่มผู้สร้างวิดีโอที่มีความสามารถ (talented film maker) โดยทางกลุ่ม Singtel จะมอบโอกาสในการทำงานร่วมกันแก่ยอดฝีมือเหล่านี้

ปรัธนา ลีลพนัง CMO ของ AIS
ปรัธนา ลีลพนัง CMO ของ AIS

AIS ยังเน้นจับมือพาร์ทเนอร์ ไม่ทำเอง

ด้าน นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด (CMO) ของ AIS อธิบายว่าภาพรวมของยุทธศาสตร์ด้านวิดีโอของเครือ Singtel ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในรายละเอียด แต่ละโอเปอเรเตอร์ก็มีอิสระในการทำยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละประเทศ

นายปรัธนาบอกว่า ยุทธศาสตร์ของ AIS ในช่วงหลังเน้นการสานต่อพาร์ทเนอร์ โดยอาศัยเครือข่ายของ AIS เป็นตัวกระจายบริการและคอนเทนต์ เพราะธุรกิจหลักของ AIS คือเครือข่าย การไปทำผลิตภัณฑ์หรือบริการเองอาจไม่ใช่สิ่งถนัดนัก เลือกใช้โมเดลความร่วมมือเป็น partnership น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเจรจาพาร์ทเนอร์ของ AIS ก็ต้องคัดเลือกคุณภาพ ทั้งในแง่เนื้อหาและโมเดลธุรกิจที่ลงตัว มองว่าไม่ต้องสร้างรายได้เยอะมาก แต่ขอให้เลี้ยงตัวเองได้ และเน้นการเป็นพาร์ทเนอร์แบบ exclusive

วิดีโอคือยุทธศาสตร์หลักที่เน้น แต่ต้องแยกกลุ่มคอนเทนต์ให้ชัด

ที่ผ่านมา AIS มีบริการที่ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ (service partnership) ออกสู่ตลาดแล้วหลายตัว ฝั่งของคอนเทนต์ ยุทธศาสตร์ของ AIS มองว่าวิดีโอคือจุดที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ เพียงแต่คำว่า “วิดีโอ” เองก็มีความหมายกว้าง มีความแตกต่างกันอย่างน้อย 3 ระดับ คือ

  1. กลุ่มคอนเทนต์พรีเมียม (Premium) ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ตรงนี้ AIS จะใช้วิธีซื้อไลเซนส์ ดังที่เคยทำมาแล้วกับการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก หรือโอลิมปิก
  2. กลุ่มคอนเทนต์ฟรีเมียม (Freemium) เป็นคอนเทนต์ที่หาดูได้ยาก อาจไม่เคยมีฉายในทีวีมาก่อน ตรงนี้ AIS จะใช้วิธีร่วมกันผลิตกับพาร์ทเนอร์ในไทยเป็นหลัก แล้วใช้วิธีแบ่งปันรายได้ (revenue sharing) ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือการถ่ายทอดคอนเสิร์ตออนไลน์
  3. นอกจากสองกลุ่มแรก AIS ยังมองหาคอนเทนต์วิดีโอจากกลุ่ม Creator รายย่อย โดยยังไม่เน้นหารายได้ในตอนนี้ เน้นการเผยแพร่ผลงานของ Creator ออกไปให้กว้างไกลมากที่สุด และใช้ช่องทางเหล่านี้เพื่อเฟ้นหา Creator มาร่วมงานด้วยเป็นหลัก

คลิปโปรโมทการแข่งขัน 5-Min Video Challenge ของ AIS

เน้นอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ไม่ได้แข่ง YouTube และ Pay TV

ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์วิดีโอของ AIS จะอยู่บนแพลตฟอร์ม AIS Play เพื่อทำตลาดควบคู่ไปกับบรอดแบนด์ (ทั้ง AIS Fibre และ Mobile Broadband) โดย AIS ทำเพื่อสร้างความพึงพอใจของลูกค้า มากกว่าการหวังให้ลูกค้าย้ายค่ายมาใช้ AIS เพราะมีคอนเทนต์ดี

AIS มองว่าคอนเทนต์ยังมีสถานะเป็นตัวเสริมให้ลูกค้าพึงพอใจในภาพรวมของบริการ แต่ตัวหลักยังต้องเป็นคุณภาพของเครือข่ายอยู่เหมือนเดิม เพราะแม้ว่าคอนเทนต์ดีแค่ไหน แต่ถ้าเครือข่ายแย่ ลูกค้าก็ย้ายค่ายหนี ในขณะที่คนย้ายค่ายเพราะคอนเทนต์คงมีไม่เยอะนัก

อย่างไรก็ตาม นายปรัธนา ย้ำกว่ายุทธศาสตร์ของ AIS ที่มาทำวิดีโอ ไม่ได้ใช้โมเดลหารายได้แบบ subscription ล้วนๆ เพียงอย่างเดียวเหมือนกับ Pay TV และไม่ได้เปิดให้ดูฟรีแล้วหวังเงินจากค่าโฆษณาล้วนๆ เหมือนกับ YouTube เพราะยังไม่มั่นใจว่าโมเดลนี้จะยั่งยืนแค่ไหน ยังเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้า AIS ที่ต่อยอดจากธุรกิจหลักคือโอเปอเรเตอร์อยู่

AIS 5-min video challenge
การประกวดวิดีโอสั้นระดับภูมิภาค ที่ผลักดันโดย Singtel

ต่อยอด Startup มุ่งสู่ Creator เน้นหาคนเก่งเพื่อป้อนงานให้

นายปรัธนา บอกว่าตอนนี้ Startup ถือว่าจุดติดแล้วในไทย ตอนนี้มีความร่วมมือเข้ามาเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องจัดประกวดหรือแข่งขัน แต่การมาสนับสนุน Creator ก็ใช้โมเดลไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะ AIS ไม่ได้เข้าไปเป็นเจ้าของบริษัทหรือผลงานของ Creator แต่เน้นการเซ็นสัญญาระยะยาวเพื่อทำงานร่วมกันมากกว่า

การแข่งขัน 5-Min Video Challenge ของ AIS ยังถือเป็นก้าวแรกในการสนับสนุน Creator เท่านั้น และคงจัดต่อไปเป็นประจำทุกปี แต่อาจปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บ้างเพื่อแก้ปัญหาของปีก่อนหน้า โดยการประกวดครั้งแรกมีทีมที่เข้ารอบสุดท้ายของประเทศไทย 25 ทีม พบว่ามีทีมที่ “ใช้งานได้” เกินครึ่ง และ AIS สามารถสนับสนุนให้ Creator เหล่านี้มีพื้นที่แสดงออก โดยที่สามารถทำได้ทันทีคือจ้างทีมที่น่าสนใจ เข้ามาทำวิดีโอโฆษณาให้กับ AIS นอกเหนือจากโมเดลการจ้างเอเจนซี่ที่ทำอยู่แล้ว

ยุทธศาสตร์ AIS ปี 2017 เน้นวิดีโอ, eMoney, โซลูชันธุรกิจ

นายปรัธนา ยังพูดถึงยุทธศาสตร์ของ AIS ในปีหน้า 2017/2560 ว่าจะเน้นธุรกิจวิดีโอให้มากขึ้น ซึ่งจะประกาศรายละเอียดช่วงต้นปี, เน้นการทำตลาดบริการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (eMoney) ให้มากขึ้น และอีกธุรกิจที่คนยังไม่ค่อยพูดกันคือโซลูชันฝั่งลูกค้าธุรกิจ ที่เริ่มไปแล้วกับ AIS Cloud แต่ก็จะมีบริการอื่นๆ ตามมามากขึ้นในปีหน้า

ส่วนตลาด handset คิดว่าตอนนี้เริ่มเต็มแล้ว และอีกสักพักจะเริ่มมีอุปกรณ์ IoT แบบใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนอัตราการเติบโตของตลาด handset ที่หายไป

ตลาดคอนเทนต์ด้านอื่นที่บริษัทคุยอยู่คือ mobile games ซึ่งจะใช้โมเดลพาร์ทเนอร์เช่นกัน เพราะบริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเกม แต่สามารถใช้วิธีโปรโมทเกมร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาและโอเปอเรเตอร์ ตอนนี้มีคุยอยู่บ้าง 3-4 ราย และคงค่อยๆ เห็นมีเกมออกสู่ตลาด เพียงแต่โมเดลของเกมจะไม่จำกัดการเล่นเฉพาะลูกค้า AIS เพียงแต่ลูกค้า AIS อาจได้สิทธิประโยชน์ในเกมเพิ่มมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา