ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านที่มี 3 แบรนด์หลักทำตลาดมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการจะขึ้นมาเป็น 3 อันดับแรกคงไม่ง่าย แต่ AIS Fibre พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ใน 5 ปี ผ่านกลยุทธ์ที่ทำเป็นแบรนด์แรกในอุตสาหกรรมนี้
5 ปีก็ขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ของตลาดได้
ตอนนี้ 3 อันดับแรกของตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเน็ตบ้านมีกลุ่ม True เป็นผู้นำด้วยจำนวนผู้ใช้ในไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ 4.10 ล้านราย รองลงมาเป็น 3BB ที่ 3.43 ล้านราย ตามด้วย TOT แบรนด์เก่าแก่ที่มีผู้ใช้ราย 1.47 ล้านราย (สิ้นปี 2562) หากนำตัวเลขครัวเรือนในไทย 21 ล้านครัวเรือนมาเทียบก็ยังเหลือโอกาสอีกมากในตลาดนี้
ดังนั้นเมื่อยังเหลือที่ว่างอยู่ AIS จึงเปิดตัว AIS Fibre เมื่อปี 2558 หรือ 5 ปีก่อน เพื่อช่วงชิงตลาด และเพิ่มความครบครันให้กับบริการของบริษัทจนกลายเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล หรือ Digital Service Provider อย่างที่วางแผนไว้ในระยะยาว
และจากการทำตลาดอย่างเข้มข้น ผ่านการชูเรื่องความเป็นคนแรกของอุตสาหกรรม เช่นการให้ผู้ใช้ปรับความเร็วได้เอง, การเริ่มต้นทำตลาดด้วยสายไฟเบอร์, การผูก Mesh WiFi เข้าไปในแพ็คเกจ หรือการให้อุปกรณ์ WiFi6 เทคโนโลยีสูงที่สุดในการส่งสัญญาณในปัจจุบันเป็นชุดอุปกรณ์เริ่มต้น ทำให้ AIS ขยับเข้าใกล้เบอร์ 3 เข้าไปทุกที
1.25 ล้านรายคือตัวเลขล่าสุดของ AIS Fibre
กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ AIS เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันลูกค้าของ AIS Fibre อยู่ที่ 1.25 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่ง 12% ของตลาดนี้ ทำให้ในปี 2564 มีโอกาสที่บริษัทจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของตลาดในแง่จำนวนผู้ใช้
“ตลาดรวมเน็ตบ้านตอนนี้มีใช้งานอยู่ 10 ล้านราย และถึงจะมีแนวโน้มเติบโตทุกปี แต่ตลาดก็ยังแข่งขันกันหนัก โดยเฉพาะเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เมื่อ 5 ปีก่อนเราคุยกันที่ 20 Mbps แต่ตอนนี้มันวิ่งไปถึง 1 Gbps แล้ว ดังนั้น AIS ต้องพยายามมากกว่าเดิม เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 3 ในตลาดนี้ในเบื้องต้น”
อย่างไรก็ตามถึงปีนี้ AIS Fibre จะมีลูกค้าใกล้เคียงอันดับ 3 ของตลาด รวมถึงการระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการติดเน็ตบ้านมีมากขึ้น แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ทำให้ ARPU (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน) ของ AIS Fibre อยู่ที่ 490 บาท เพราะบริษัทออกแพ็คเกจราคาต่ำมาช่วยลูกค้าให้เข้าถึงได้
ต่างจังหวัดคือตัวแปรสำคัญในการเติบโต
ขณะเดียวกันการเติบโตในปี 2564 ทาง AIS Fibre ยังเตรียมขยายออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งการขยายออกไปต่างจังหวัดนี้จะทำให้จำนวนลูกค้าปัจจุบันเพิ่มขึ้น 20% จนแซงขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของตลาดนี้ได้
นอกจากนี้บริษัทยังเพิ่มช่องทางจำหน่ายไปที่กลุ่ม Non-Telecom หรือหน้าร้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เช่นกลุ่มค้าปลีก Big C และ Power Buy รวมถึงการร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในการขยายช่องทางทำตลาดด้วย เพราะโครงข่าย AIS Fibre ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดแล้ว
ในทางกลับกัน “กิตติ” มองว่า การเข้ามาของ 5G ไม่ได้กระทบกับธุรกิจเน็ตบ้านมากนัก เพราะการใช้งานเน็ตบ้านเป็นการใช้ในลักษณะครอบครัว ส่วน 5G เป็นการใช้งานลักษณะบุคคล ดังนั้นเน็ตบ้าน และ 5G จึงตอบโจทย์การใช้งานคนละแบบ
สรุป
AIS Fibre เติบโตค่อนข้างเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และต้องบอกว่า 5 ปีนี้เป็นแค่การวางโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น เพราะหลังจากนี้ AIS Fibre จะรุกตลาดเต็มที่ และมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านการชูบริการดิจิทัลต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกกลุ่ม และมี AIS ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 40 ล้านเลขหมายเป็นอีกลูกค้ากลุ่มสำคัญด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา