[วิเคราะห์] AIS – dtac – True ใครได้ ใครเสีย กับการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz

กสทช. กำหนดให้การประมูลคลื่นความถี่ 900MHz เลื่อนไปก่อน เพื่อรอดูผลการศึกษาเกี่ยวกับคลื่นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จะใช้กับระบบรถไฟความเร็วปานกลาง ดังนั้นจึงเหลือเพียงคลื่นความถี่ 1800MHz เท่านั้นที่จะจัดประมูลในวันที่ 4 ส.ค. นี้ และเมื่อประกาศตัดสิทธิ์ แจส โมบาย เข้าร่วม เพราะทิ้งใบอนุญาตครั้งก่อน

ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรพลิก บริษัทเอกชนที่มีโอกาสเข้าร่วมประมูลได้จึงเหลือ 3 รายเดิม คือ AIS, dtac และ True เท่านั้น หลังจากถกเถียงกันอยู่พักใหญ่ว่าจะมีการทบทวนรายละเอียดการประมูลหรือไม่ สุดท้าย กสทช.​สรุปว่า จะแบ่งคลื่นความถี่ 1800MHz จำนวนทั้งหมด 45MHz เป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15MHz อายุใบอนุญาต 15 ปี ราคาเริ่มต้นประมูล 37,457 ล้านบาท

และใช้สูตร N-1 ในการประมูล แปลว่า ปริมาณใบอนุญาตจะน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล (N) เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเคาะราคา โดยราคาจะเพิ่มขึ้น 75 ล้านบาทต่อการเคาะราคา 1 ครั้ง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าทั้ง 3 รายเข้าร่วมการประมูลจะเป็นการชิงใบอนุญาต 2 ใบ แต่ถ้ามีผู้สนใจเข้าประมูลเพียงรายเดียว กสทช. จะต่อเวลาออกไปอีก 30 วัน และถ้าไม่มีผู้สนใจเพิ่มเติม จะเปิดประมูลโดยให้ผู้เข้าร่วมเพียงรายเดียวนั้น เคาะราคาเพิ่ม 1 ครั้ง เป็นอันสิ้นสุด (37,457 ล้านบาท + 75 ล้านบาท)

และต่อไปนี้คือ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้

  • มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่า ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 รายดังกล่าว ตกลงร่วมกันว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ เพราะเห็นตรงกันว่า ราคาเริ่มต้นประมูลสูงเกินไป ถึงจะชนะการประมูลก็ไม่ได้ทำให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันและให้บริการ กลับจะเป็นภาระมากขึ้น และการแบ่งคลื่นความถี่เป็น 15MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต เป็นขนาดที่ใหญ่เกินความต้องการ (และราคาสูง)

  • สำหรับ AIS ประกาศออกมาเป็นรายสุดท้าย ว่าจะไม่เข้าร่วามการประมูลครั้งนี้ เพราะราคาเริ่มต้นประมูลและหลักเกณฑ์ ไม่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท ลูกค้า และผู้ถือหุ้น
  • ปัจจุบัน AIS มีคลื่นความถี่ 2100MHz, 900MHz และ 1800MHz จากการประมูลก่อนหน้านี้ รวม 55MHz และยังมีคลื่นความถี่ 2100MHz ที่ร่วมกับ TOT มาเสริมอีก โดยมีหนี้ค่าใบอนุญาตที่ต้องชำระรวมเป็นแสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอยืดเวลาการชำระออกไป (เช่นเดียวกับ True) แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว
  • dtac กับ True ประกาศไม่เข้าร่วมมาก่อนแล้ว และการที่ AIS ประกาศไม่เข้าด้วย ส่งผลให้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ กสทช.​ อาจต้องทบทวนราคาเริ่มต้นประมูลใหม่ และน่าจะต้องรอให้ กสทช.​ ชุดใหม่ เข้ามาดำเนินการประมูลในอนาคต

  • ด้าน dtac หลังจากประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับ TOT นำคลื่นความถี่ 2300MHz ออกมาใช้งานได้ พร้อมกับประกาศบริการอย่างเป็นทางการในชื่อ dtac TURBO ก็ไม่รอช้าที่จะประกาศไม่เข้าร่วมการประมูล เพราะราคาประมูลไม่สะท้อนต้นทุน ผู้ชนะไม่ได้เปรียบจากการได้คลื่นใหม่
  • ถ้าไม่นับคลื่นความถี่ 2300MHz ที่ได้มาใหม่ เดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทาน dtac จะหมดลง เหลือคลื่นความถี่ 2100MHz ขนาด 15MHz เพียงคลื่นเดียว ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอให้บริการผู้ใช้มากกว่า 20 ล้านราย และการจะเข้าประมูลคลื่นใหม่ ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท dtac ก็ยืนยันมาตลอดว่าเป็นราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
  • นอกจากนี้ dtac ยังผลักดันให้แบ่งคลื่นความถี่ให้เล็กลง เช่น ขนาด 5MHz เพื่อให้การประมูลมีความยืดหยุ่น กระตุ้นการแข่งขัน เปิดโอกาสให้รายเล็กอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมได้ และน่าจะยกเลิกสูตร N-1 เพราะด้วยจำนวนผู้ให้บริการที่จำกัด การใช้สูตรนี้ จะทำให้มีคลื่นความถี่เหลือ ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์
  • แต่สุดท้ายข้อเรียกร้องทั้งหมดของ dtac ไม่ได้รับการตอบสนองจาก กสทช. และ dtac ได้ 2300MHz มาใช้งานแล้ว จึงไม่แปลกที่ dtac จะไม่เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้

  • ขณะที่ True เป็นรายแรกที่ประกาศไม่เข้าร่วมประมูล ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ คลื่นความถี่ที่มีอยู่ 850MHz, 2100MHz รวมถึง 900MHz และ 1800MHz มีขนาดรวม 55MHz ครอบคลุมทั้งคลื่นย่านความถี่ต่ำและความถี่สูง เพียงพอให้บริการลูกค้าและแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างสบาย
  • ประเด็นต่อมาคือ True มองเห็นว่า ราคาเริ่มต้นประมูลและข้อกำหนดต่างๆ ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ชนะประมูลได้เปรียบ และ True เชื่อว่าการเข้าร่วมประมูลจะเป็นการสนับสนุนราคาที่สูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง สร้างภาระทางการเงินให้ผู้ชนะประมูล
  • True มีหนี้ค่าใบอนุญาตรวมแล้วกว่าแสนล้านบาทเช่นเดียวกับ AIS ประกอบกับผลประกอบการล่าสุดที่ยังขาดทุนอยู่ จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูล
  • True ประกาศแนวทางชัดเจนหลังชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาว่า จะต้องเป็นที่ 1 ในตลาดให้ได้ และใช้เวลาช่วงที่ผ่านมาสร้างฐานลูกค้าแซงหน้า dtac ได้แล้ว ตอนนี้คือการวัดพลังกับพี่ใหญ่อย่าง AIS แต่ด้วยหนี้สินและผลประกอบการ เชื่อว่า True ไม่น่าจะหาหนี้เพิ่มอีก

สรุป

AIS, dtac และ True ประกาศจุดยืนที่จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz เป็นสัญญาณถึง กสทช. ให้ต้องทบทวนหลักเกณฑ์การประมูลว่า การกำหนดราคาเริ่มต้นที่สูงจนไม่สะท้อนต้นทุน, การแบ่งขนาดคลื่นความถี่ใหญ่เกินความต้องการ (15MHz x 3ใบ) สุดท้ายแล้ว ประเทศได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์

และการไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ส่งผลให้คลื่นความถี่ 1800MHz จะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ คำถามคือ เป็นผลดีกับประเทศอย่างไร ทั้งที่ในเวลานี้คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา