กางแผน AIS สู่ Digital Service Platform สร้างรายได้แซง Telecom ภายใน 5 ปีข้างหน้า

AIS เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมเทเลคอมในปีนี้ มองยาวไปถึงภายใน 5 ปีหลังจากนี้ มองธุรกิจ Digital Service Provider จะสามารถสร้างรายได้กลับมาสู่บริษัทฯ ได้อย่างยั่งยืน มองธุรกิจนี้โตกว่าอุตสาหกรรมเทเลคอมกว่า 13 เท่า โดยเน้นเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์แทนที่จะลงทุนเองทั้งหมด

จากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ได้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่สำคัญต่างๆ ใน 2563 ขอสรุปและรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

AIS ยังครองความเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลยุทธ์องค์กร บอกว่า ณ สิ้นปี 256 ภาพรวมของธุรกิจโทรคมนาคมได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้รายได้รวมของของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่หดตัว 6% จากปีก่อนที่มีการเติบโตขึ้น 4% มีผู้ใช้บริการทั้งตลาดรวม 91 ล้านหมายเลข ลดลง 3% จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ถึงแม้ว่าในตลาดมีผู้ใช้บริการระบบเติมเงินเป็นสัดส่วน 72% ของตลาด แต่เนื่องด้วยผู้ใช้งานมีการย้ายมาใช้งานรายเดือนอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากที่ลูกค้าใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นสูงขึ้น

ในส่วนของ AIS ยังครองส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 46% และมีผู้ใช้บริการ 41 ล้านเลขหมาย โดยมีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 68% แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้รายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2563 มี 118,082 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 กว่า 6.5% แต่รายได้จากลูกค่าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 4.4% แต่รายได้จากลูกค้าระบบเติมเงินลดลง 12% เมื่อเทียบจากช่วงปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้าย้ายจากระบบเติมเงิน มาระบบรายเดือนอย่างต่อเนื่อง และลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไป ส่งผลทำให้ ARPU ลดลงจาก 252 บาท เป็น 234 บาท ลดลง 7%

“ช่วงปีที่ผ่านมา เราพบว่ามีการใช้งานบริการต่างๆ มีมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น 30-40% แต่มีรายได้ที่ลดลง ยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ซบเซา ไม่มีกำลังซื้อ และมีการแข่งขันด้านราคาจากผู้ให้บริการรายอื่น ทำให้รายได้เราลดไปประมาณ 6% แต่เราก็ยังกำไรในธุรกิจนี้ ส่วนรายได้จากซิมนักท่องเที่ยว หากเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ รายได้เราจะกลับมาเช่นเดิม”

ลงทุน 5G กว่า 30,000 ล้านบาท รักษาความเป็นผู้นำ

ในปี 2563 มีลูกค้าที่ใช้งาน 5G กว่า 4 แสนราย ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นเทคโนโลยี 5G มีสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G กว่า 40 รุ่น ในราคาเริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาท และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านราย ARPU ลูกค้า 5G จะสูงกว่าลูกค้า 4G ประมาณ 10% โดยเราลงทุนเรื่องเครือข่าย และเสาสัญญาณที่รองรับเทคโนโลยีไปแล้วกว่า 30,000 ล้านบาท และจะลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ การลงทุนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการ 5G

“อุปกรณ์และเครือข่ายที่เราติดตั้งใหม่ จะรองรับการใช้งาน 5G และ 4G ได้ภายในอุปกรณ์เดียวกัน ทำให้ประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น ทั้งเรื่องของจำนวนอุปกรณ์ รวมไปถึงการใช้พลังงาน เราต้องคงเทคโนโลยี 4G เพราะยังเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการสื่อสารต่อจากนี้”

ais fibre

Fix Broadband ยังสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

AIS Fibre ถือเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ยังสามารถสร้างรายได้อย่างเติบโตและต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมปีที่แล้วกว่า 6,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้านี้ โดยมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 1,336,900 ราย คิดเป็นส่วนแข่งการตลาด 12% ของตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และในปี 1-2 ปีนี้หมายมั่นปั้นมือจะขยับส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 3 ให้ได้ โดยปีนี้จะลงทุนเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ แพคเกจเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตบ้านอยู่ที่ 299 บาทต่อเดือน ในความเร็ว 100Mbps ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วจากราคา 599 บาทต่อเดือน และตอนนี้การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในตลาดมีแพ็กเกจ 1Gbps ในราคาเริ่มต้นเพียง 590 บาทต่อเดือนเท่านั้น และการดึงดูดให้ลูกค้าย้ายค่าย โดยมอบส่วนลดครึ่งราคาให้กับลูกค้า ยังทำให้ ARPU ของอุตสาหกรรมมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ AIS จากเดิม 533 บาท เป็น 476 บาท ตอนนี้ผู้ให้บริการหลายๆ รายต่างเพิ่มกลยุทธ์ขายแพ็กเกจที่เหมารวมบริการ ทั้งอินเตอร์เน็ตบ้าน ซิมมือถือ และคอนเทนต์ต่างๆ ในหลายแพลตฟอร์ม เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ และรักษาฐานลูกค้าเก่า”

ais

มอง Digital Service Platform สร้างรายได้ทดแทนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

กลุ่ม Digital Service ถือเป็นกลุ่มที่ AIS เริ่มมองเห็นศักยภาพของการสร้างรายได้หลังจากนี้ โดยปี 2563 สามารถสร้างรายได้กว่า 4,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการของลูกค้าองค์กรในการใช้งานด้านดาต้า และ ICT ที่มีแนวโน้มมากขึ้นในยุคเปลี่ยนผ่าน และแนวโน้มผู้ใช้งาน IoT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกว่า 935,000 อุปกรณ์ ส่วนผู้ใช้งาน AIS PLAY เติบโตมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 3 ล้านราย

disrupt เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกธุรกิจทุกอุตสาหกรรม AIS เป็นหนึ่งธุรกิจที่มีพื้นฐานการให้บริการดิจิทัลอยู่แล้ว อย่างช่วงหนึ่งโครงการของ ‘Starlink’ บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมโดยของ SpaceX ที่มีเจ้าของคือ อีลอน มัสก์ สร้างกระแสได้พอสมควร หากโครงการนี้มาจริง เราก็ได้เตรียมพร้อมรองรับมือไว้อยู่แล้ว ส่วนอนาคตต่อจากนี้ 3-5 ปีข้างหน้า เราพร้อมลงทุนในส่วนของ Digital Service Platform เพราะประเมินว่ารายได้ในอนาคตต่อจากนี้จะสร้างมูลค่า กำไรได้อย่างมหาศาล สูงกว่ารายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเรากว่า 13 เท่า เราจะเน้นไปลงทุนกับพาร์ทเนอร์ หากลงทุน 10% เท่ากับว่าจะมีรายได้ส่วนนี้เทียบเท่าธุรกิจดั้งเดิมของ AIS เลยก็ว่าได้”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คนไอที อยู่วงการเทเลคอมมาร่วม 20 ปี ผันตัวมาทำสิ่งใหม่ๆ แล้วก็เริ่มสนุกกับมัน!