ปัจจุบันมีหลายองค์กรส่งแคมเปญเกี่ยวกับการรู้เท่าทันการหลอกลวงในโลกดิจิทัล และส่วนใหญ่มักจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เช่น วิธีการหลอกลวง และการป้องกันตัวเองเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ไม่ใช่กับ AIS ที่เลือกใช้วิธีใหม่ ๆ ในการสร้างการรับรู้เรื่องนี้ให้กับผู้บริโภคผ่านแคมเปญ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ที่ให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านเรื่องราวหลังความตาย
ทำไมถึงต้องเป็น “ความตาย” และโครงการดังกล่าวจะให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางใด Brand Inside ได้หาคำตอบมาให้แล้วครับ
AIS อุ่นใจไซเบอร์ ที่แตกต่างจากแคมเปญอื่น
สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เล่าให้ฟังว่าภัยร้ายจากโลกไซเบอร์สร้างความรุนแรงให้กับชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านการหลอกลวง และการโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภคจึงจำเป็น
AIS จึงสร้างแคมเปญ AIS อุ่นใจไซเบอร์ เพื่อเพิ่มความยั่งยืนให้ทักษะดิจิทัลของผู้บริโภค ผ่านการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการดิจิทัลป้องกันภัยไซเบอร์ คู่กับการส่งเสริม และให้ความรู้เท่าทันโลกดิจิทัล โดยร่วมมือกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์
แต่แค่นั้นก็คงไม่ต่างกับที่องค์กรอื่นทำ AIS จึงร่วมมือกับ Phenomena บริษัทโฆษณาชั้นนำ เพื่อช่วยสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ผ่าน “ความตาย” ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การโดนหลอกลวงทางไซเบอร์จนต้องเสียชีวิต หรือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่ไม่ได้ทำให้คนที่ถูกกระทำเสียใจ แต่ยังกลายเป็นปมในการใช้ชีวิตในอนาคต
แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ยกระดับทักษะได้จริง
“เราอยากเล่าเรื่อง และอธิบายปลายเหตุของภัยร้ายจากโลกไซเบอร์ในมุมใหม่ ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ดีขึ้น และช่วยให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงอันตรายที่สุดท้ายอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นผี หรือความตาย น่าจะช่วยสื่อสารเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี” พลัช ร่มไทรย์ ผู้กำกับภาพ Phenomena กล่าว
ทั้งนี้ AIS อุ่นใจไซเบอร์ นอกจากจะมีภาพยนตร์โฆษณา และสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องความตายจากภัยไซเบอร์ บริษัทยังพัฒนาแอปพลิเคชัน อุ่นใจไซเบอร์ และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ learndiaunjaicyber.ais.co.th เพื่อให้ความรู้ผ่านการทดสอบ พร้อมีประกาศนียบัตรหากสอบผ่านเช่นกัน
“มีความรู้ก็อยู่รอด คือแนวคิดหลักของแคมเปญนี้ เพราะ AIS เชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เราสู้กับทุกภัยไซเบอร์ได้คือ การมีความรู้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำภารกิจและความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ในการนำองค์ความรู้มาส่งต่อให้กับคนไทยได้ใช้เป็นอาวุธเพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ” สายชล เสริม
คดีออนไลน์เสียหายกว่า 21,900 ล้านบาท
เพื่อยืนยันว่าภัยไซเบอร์สามารถสร้างความเสียหายถึงขั้นเสียชีวิตได้ พล.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีออนไลน์ที่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-29 ต.ค. 2565 มีการแจ้งความคดีออนไลน์ 1.13 แสนครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 21,900 ล้านบาท
สำหรับประเภทคดีที่ถูกแจ้งมากที่สุด 5 อันดับแรกบนการแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com ประกอบด้วย
- ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า ราว 34,000 ครั้ง
- หลอกให้ทำงานออนไลน์ ราว 15,000 ครั้ง
- หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน ราว 13,000 ครั้ง
- หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ราว 11,000 ครั้ง
- ซื้อสินค้า แต่ไม่ได้รับสินค้า ราว 7,900 ครั้ง
“อยากแนะนำว่าถ้าต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ ควรซื้อกับแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่หากซื้อจริง ๆ ควรมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อช่วยยืนยันผู้หลอกลวงเวลาต้องการความช่วยเหลือจากฝั่งตำรวจ ส่วนเรื่องหลอกลวงให้โอนเงิน ปัจจุบันมีการหลอกกันทุกวัน และเสียหายกันหลักล้านบาททุกวัน”
สรุป
จริง ๆ ทุกคนอาจเริ่มมั่นใจขึ้นว่าคงไม่ถูกหลอกลวง หรือกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ แต่ความมั่นใจเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดความประมาท และสร้างผลเสียให้กับตัวเองในอนาคตได้ ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงจำเป็น และมีหลายองค์กรเริ่มส่งแคมเปญในลักษณะนี้ออกมามากขึ้นเพื่อช่วยกันกระตุ้นผู้บริโภค
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา