อ่านกลยุทธ์บุกตลาดลูกค้าองค์กรของ AIS กับยุคที่อะไรๆ ก็ต้อง Digital Transformation

Digital Transformation กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่หลายองค์กรพูดถึง เพราะโลกกำลังหมุนไปในทิศทางนี้ และ AIS ก็เห็นโอกาสที่จะเข้าไปช่วยเหลือองค์กรทุกระดับในการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

AIS Business

Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องใหม่

ถ้าลองย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อนจะพบว่ามีการพูดถึงเรื่อง Digital Transformation ในประเทศไทยแล้ว ผ่านนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นอีกก็จะพบว่าบางประเทศเดินหน้านโยบายในลักษณะดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันข้อมูล (Data) กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ คล้ายกับก่อนหน้านี้ที่ใครมีที่ดิน หรือเหล็กเยอะก็จะกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยุคนั้นๆ ที่สำคัญข้อมูลยังมีบทบาทเป็น Digital Backbone ของอุตสาหกรรมยุคนี้ด้วย

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)

“Data มันเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนได้ ทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำงาน ยิ่งประชากรทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 4,000 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดเสียอีก ส่วนถ้ามองในไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน Digital Transformation มันก็ยิ่งสำคัญ เพราะถ้าธุรกิจเปลี่ยนตามผู้บริโภคไม่ทันก็สูญเสียโอกาสมหาศาล”

ใส่ใจลูกค้าด้วยเครื่องมือยุค Digital ที่หลากหลาย

ทั้งนี้ในปี 2563 เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI), Internet of Things (IoT) และ Blockchain ก็น่าจะก้าวล้ำขึ้นไปอีก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้งานกับตัวธุรกิจก็น่าจะเป็นข้อได้เปรียบในการเข้าใจ และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธุรกิจของ AIS ในปัจจุบัน

“บริษัทใน Silicon Valley ที่ยิ่งใหญ่ในตอนนี้เขาคิดว่าจะทำอะไรให้ผู้ใช้ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อป้องกันการถูก Disrupt จากองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับพวกเขาก็พยายามรักษาคนเก่งๆ ให้อยู่ในองค์กรได้นานที่สุด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวธุรกิจได้มากกว่าเดิม”

สำหรับ AIS ก็มีการปรับตัวจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecom Service Provider) เป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life Service Provider) ผ่าน 3 ธุรกิจคือ Mobile, Fixed Broadband และ Digital Service พร้อมกับการก้าวสู่บทบาทใหม่คือผู้ให้บริการ ICT Service สำหรับกลุ่มองค์กรลูกค้าธุรกิจ เพื่อเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือให้ทุกอุตสาหกรรมทำ Digital Transformation ได้เต็มรูปแบบ

พาร์ทเนอร์ของ AIS ในปัจจุบัน

ยุคใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ Mobile อีกต่อไป

“AIS อยากเติบโตไปด้วยกันกับอุตสาหกรรมอื่น เพราะเราต้องการช่วยให้พวกเขา ส่งสินค้า และบริการไปถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือดิจิทัลที่เรามีให้ ยิ่งเราปวารณาตัวเป็น Digital Platform เราก็อยากจับมือตั้งแต่ระดับบุคคล, SME จนถึงองค์กรขนาดใหญ่ และไม่ต้องห่วงเราไม่ทำอะไรแข่งกับผู้เล่นในอุตหกรรมนั้นๆ แน่นอน”

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร ของ AIS เสริมว่า ก่อนหน้านี้บริษัทอาจโดดเด่นเรื่อง Wireless Network ผ่านโครงข่ายที่ดีเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันบริษัทก็มี Wire Network และ Digital Service ที่เชื่อมต่อกับลูกค้าทุกระดับ ผ่าน Business Connectivity กว่า 1.4 ล้านจุด

ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร ของ AIS

“ประสบการณ์กว่า 28 ของ AIS ก็เป็นอีกข้อการันตีว่าหลังจากนี้ที่เราจะทำตลาด Mobile, Network, IoT และ Cloud ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างให้ทุก Ecosystem เติบโตไปด้วยกัน ยิ่งตอนนี้เรามี CS Loxinfo และบริษัทที่ดูแลลูกค้ากลุ่ม SME โดยเฉพาะเข้ามาเพิ่ม ก็ยิ่งทำให้การทำ Digital Transformation ทำได้ดีขึ้น”

เจาะตัวเลขขุมกำลัง Digital Service ของ AIS

นอกจากตัว Mobile Service ที่ปัจจุบัน AIS มีลูกค้ากว่า 40 ล้านเลขหมาย และเป็นอันดับหนึ่งของตลาด ในฝั่ง Fixed Broadband ก็มีโครงข่ายกว่า 1.6 แสนกม. และยังขยายอย่างต่อเนื่องเพื่อครอบคลุมเมืองหลักๆ ได้มากกว่าเดิม รวมถึงมีการเดินหน้าโครงการ IoT รูปแบบต่างๆ และบริการ Cloud แล้วเช่นกัน

บริการต่างๆ ของ AIS ทั้งฝั่งลูกค้าทั่วไป และลูกค้าองค์กร

“AIS ค่อนข้างแข็งแรงเรื่อง People Wear หรือกำลังคน เพราะเราค่อนข้างใส่ใจเรื่องนี้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการยกระดับองค์กรไปสู่ดิจิทัล จึงไม่แปลกที่ปีนี้เรามีการแยกทีม Enterprise ออกมาเลย พร้อมกับมองว่า กลุ่ม AIS Business คืออีก Growth Engine สำคัญของบริษัท”

สำหรับรายได้ฝั่งลูกค้าองค์กรนั้นอยู่ราว 14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด โดย AIS คาดหวังว่ารายได้กลุ่มนี้จะเติบโตเป็นสัดส่วน 15% ให้ได้ โดยความหวังอยู่ที่บริการ Cloud กับ IoT เนื่องจากบริการ Mobile และ Fixed Broadband เติบโตค่อนข้างช้า

สรุป

กลยุทธ์การรรุกตลาดลูกค้าองค์กรครั้งนี้ของ AIS ถือเป็นการพลิกโฉมองค์กรอีกครั้ง เพราะมันคือการเปลี่ยนมุมมองขององค์กร รวมถึงการติดอาวุธในการทำตลาดให้มีมากขึ้นไปอีก อย่างไรตามมันก็คงดีไม่น้อยที่ทุกองค์กรจะเติบโตไปด้วยกันกับ AIS รวมถึงทำ Digital Transformation ให้กับประเทศไทยไปพร้อมกันด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา