ศึกษาเกมสุดได้เปรียบของ AIS หลังได้คลื่นจากการประมูล 5G มากที่สุด

เมื่อการประมูลคลื่น 5G สิ้นสุด ทาง AIS ก็เหมือนจะครองความได้เปรียบในธุรกิจโทรคมนาคมหลังจากนี้ เพราะยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อได้ใบอนุญาตจำนวนมาก จนปัจจุบัน AIS มีคลื่น 5G มากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ais

คลื่นยิ่งเยอะยิ่งได้เปรียบ

“ยิ่งมีคลื่นในมือเยอะ การให้บริการก็ยิ่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” คือเรื่องปกติของธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพราะคลื่นเปรียบเหมือนถนน ถ้ามันกว้าง รถยนต์ก็วิ่งได้สะดวก ไม่มีการติดขัด และหลังจบการประมูล 5G ทาง AIS ก็คือคนที่มีคลื่นในมือเยอะที่สุด และมากกว่าคู่แข่งถึง 40%

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS เล่าให้ฟังว่า ถึงตอนนี้ AIS มีคลื่นในมือทั้งหมด 1,420 MHz โดยในจำนวนนี้เป็นคลื่นที่รองรับเทคโนโลยี 5G ที่ 1,330 MHz ทำให้ AIS กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของโลกในทันที ผ่านการมีคลื่นที่รองรับเทคโนโลยี 5G มากกว่าบริษัทโทรคมนาคมระดับโลกที่หลายคนรู้จัก

ais
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS

“AIS เชื่อว่า หากคลื่นที่เรามีได้เปรียบ โดยเฉพาะในแง่จำนวน ความได้เปรียบเหล่านั้นก็จะแปรผันเป็นคุณภาพที่ลูกค้าได้ใช้งาน ซึ่งตอนนี้เรามีความพร้อมในการให้บริการหลังจากทดสอบ 5G มาทั่วประเทศ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยวัน และเม็ดเงินลงทุนได้”

กลยุทธ์จะให้เหมือนกันหมดคงไม่ได้

อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายต่างก็มีกลยุทธ์ในการประมูล และการเดินหน้าธุรกิจหลังจากนั้นที่แตกต่างกัน เช่น AIS เลือกประมูลคลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz แถมแต่ละคลื่นก็ได้ไปจำนวนมาก ถึงขนาดทำ Super Block หรือ การมีช่วงคลื่นความถี่เต็มปริมาณของคลื่นนั้นๆ ได้

ais
จำนวนคลื่นความถี่ของ AIS และผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

“แต่ละผู้เล่นก็มีแนวคิดที่แตกต่างกัน ถ้าให้ทุกเจ้ามีคลื่นเหมือนกันหมดมันก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็มีจำนวนคลื่นที่แตกต่างกัน ดังนั้นมันเกิดการแข่งขันขึ้นแน่ๆ ส่วนเรื่อง Price War ในตลาดนี้มันก็เป็นเรื่องปกติ อยู่ที่ว่าทำ Price War แล้วจะมีความยั่งยืนได้อย่างไรมากกว่า”

สำหรับกลยุทธ์หลังจากนี้ของ AIS คือการนำความได้เปรียบเรื่องคลื่นความถี่ 5G ตั้งแต่ย่านต่ำ-กลาง-สูง ไปให้บริการอย่างเหมาะสม เช่นคลื่นย่านต่ำเน้นนำไปใช้เพื่อเทคโนโลยี IOT และให้บริการทั่วประเทศ, คลื่นย่านกลางนำไปใช้กับลูกค้าทั่วไป ส่วนคลื่นย่านสูงจะนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ เช่นควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน

ais
รูปแบบการใช้คลื่น 5G ของ AIS ว่าจะนำไปให้บริการอย่างไรบ้าง

ไม่ใช่แค่ 5G แต่ 4G ก็ยกระดับขึ้น

ขณะเดียวกันการได้คลื่นความถี่ 2600 MHz มา ทาง AIS มีแผนนำไปให้บริการ 4G เพื่อเพิ่มความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยี 5G ยังอยู่ในช่วงพัฒนา ทำให้ตอนนี้มีอุปกรณ์ที่รองรับน้อยมาก แต่โทรศัพท์มือถือในไทยรองรับ 4G บนคลื่น 2600 MHz ราว 600 รุ่น มันจึงเป็นประโยชน์กว่ารอเทคโนโลยีพร้อม

“ผมเชื่อว่าปีนี้จะมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G จำหน่ายราว 20-30 รุ่น แต่มันยังกระจุกอยู่ในรุ่นเรือธงที่มีราคาสูง ดังนั้นมันคงจะเห็นภาพการใช้งานหลังการประมูลเสร็จสิ้นได้ลำบาก ต่างกับการประมูล 4G ที่พอประมูลจบ ทุกค่ายก็พร้อมให้บริการทันที เพราะตอนนั้นมีผู้บริโภคที่ใช้มือถือ 4G จำนวนมากแล้ว”

ais

ทั้งนี้ถึง AIS จะไม่ได้บอกช่วงเวลาที่ชัดเจนของการให้บริการ 5G แต่ด้วยการอัพเกรดโครงข่ายให้พร้อมรองรับ 5G รวมถึงการทดสอบมาทั่วประเทศ ประกอบกับภาพลักษณ์ที่สื่อออกมาว่ามีคลื่นในมือมากที่สุด ก็คงไม่แปลกที่ AIS จะค่อนข้างได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในตอนนี้

สรุป

หลังจากวิกฤติในช่วง 3G เพราะคลื่นความถี่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าจำนวนมาก ปัจจุบัน AIS กลายเป็นผู้เล่นที่มีคลื่นเยอะที่สุด และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ ในยุค 5G ที่ทั้งโลกกำลังเร่งพัฒนา ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่า AIS จะอาศัยความได้เปรียบนี้เดินเกมได้มากแค่ไหน และคู่แข่งจะออกมาแก้เกมอย่างไรบ้าง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา