จากเติมเกม เป็นจ่ายทุกอย่าง ทำ Airpay สยายปีกขึ้น Top 5 บริการ E-Wallet

ถึง E-Wallet จะเปิดให้บริการมาเกิน 10 ปีในประเทศไทย แต่อัตราการเติบโตช่วงนั้นยังเป็นไปแบบช้าๆ แต่พอสมาร์ทโฟน และโครงข่าย 4G เริ่มเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น การใช้งานจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มผู้เล่นที่ไม่ใช่โอเปอเรเตอร์ที่เข้ามาในตลาด

หนึ่งในนั้นคือ Airpay บริการของกลุ่ม Garena หนึ่งในผู้ให้บริการเกมรายใหญ่ ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2557 แต่ไม่กี่ปีก็ขึ้นมาเทียบชั้นโอเปอเรเตอร์ได้ ลองศึกษากลยุทธ์ และวิธีการทำตลาดกับยักษ์ใหญ่หน้าใหม่รายนี้กัน

แค่ 3 ปี ขึ้นท็อป 5 บริการอีวอลเล็ต

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า ตอนนี้ Airpay น่าจะติดอยู่ใน Top 5 ของผู้ให้บริการอีวอลเล็ตในประเทศไทยเมื่อเทียบในแง่จำนวนผู้ใช้ที่มีกว่า 3 ล้านไอดี พร้อมจุดชำระเงินอีก 79,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเกือบทั้งหมดจะอยู่ภายในร้าน Internet Cafe เพื่อรองรับความต้องการเติมเงินของ Gamer

“ทรานเซ็กชั่น Airpay โตเร็วมาก เพราะเราเริ่มต้นสร้างฐานลูกค้าจาก Gamer ผ่านการเป็น Hub เติมเงินเกมให้กับ Publisher ทุกค่าย และหลังจากนั้นเราก็ขยับตัวให้เป็นแพลตฟอร์มรับชำระเงินของบริการ Entertainment ต่างๆ เช่นรับชมภาพยนตร์ ก็ใช้ Application เราชำระเงินได้ทันที ดังนั้นฐานลูกค้าเราจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และอยู่ในระดับเดียวกับโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการมากว่า 10 ปีได้”

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด

กลัวบริษัทไทยมากกว่าต่างชาติเข้ามา

อย่างไรก็ตามการเข้ามาทำตลาดของผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ เช่น Alipay, WeChat Pay และ Samsung Pay ยังไม่ได้กระทบกับผู้ให้บริการ E-Wallet โดยตรง เพราะกลุ่มหนึ่งเน้นเจาะนักท่องเที่ยวจีนที่มาอยู่ในประเทศไทย ส่วนอีกรายเป็นแพลตฟอร์มชำระเงิน ซึ่งผู้เล่นอีวอลเล็ตบางรายตอนนี้ก็ให้บริการได้อยู่แล้ว จึงห่วงการแข่งขันระหว่างผู้เล่นท้องถิ่นด้วยกันมากกว่า

โดยการการแข่งขันในตอนนี้จะเน้นเรื่องค่าธรรมในการชำระค่าบริการต่างๆ และเร่งทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้ฐานลูกค้ากลุ่มเดิมของผู้เล่นแต่ละรายเข้ามาใช้งาน E-Wallet โดยเฉพาะกลุ่มโอเปอเรเตอร์ที่เมื่อเทียบจำนวนผู้ใช้งาน E-Wallet กับลูกค้าทั้งหมดยังค่อนข่างน้อย ในทางกลับกันผู้เล่นที่เข้ามาใหม่ และไม่มีฐานผู้ใช้เดิมจะค่อนข้างเติบโตลำบาก เพราะจะจูงใจต้องใช้แคมเปญการตลาดเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นการลงทุนสูญเปล่า

banknote-15801_1920

มองกรณี True Money แค่เกมธุรกิจ

“การแข่งขันหนักจนขนาดผู้เล่นรายหนึ่งสามารถเชื่อมต่อกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 ได้ก่อน แต่ Garena ยังมองว่าเป็นเกมของธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการแข่งขัน และมุ่งพัฒนา Airpay ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุดมากกว่า ผ่านแพลตฟอร์มที่มีบริการรองรับจำนวนมาก เช่นล่าสุดก็สามารถซื้อประกันได้ จากเดิมที่มีทั้งสาธารณูปโภค, Entertainment และชำระตั๋วเครื่องบิน”

ส่วนเรื่อง พร้อมเพย์ ปัจจุบันยังไม่กระทบกับบริการ Airpay มาก เพราะเฟสแรกของบริการนั้นยังทำได้แค่การโอนเงิน ซึ่ง E-Wallet ในตลาดยังไม่เน้นบริการนี้เท่าไหร่นัก แต่หากเฟสที่สองของ พร้อมเพย์ เปิดให้บริการเมื่อไหร่ ก็จะเข้ามาแข่งกับอีวอลเล็ตโดยตรง เพราะตัว พร้อมเพย์ จะเชื่อมต่อกับระบบชำระบิลต่างๆ และความง่ายนั้นจะทำให้การทำตลาดบริการ E-Wallet ทำได้ยากขึ้น

truemoney6

สรุป

ยิ่งผู้บริโภคมีสมาร์ทโฟน และเข้าถึงโครงข่าย 3G และ 4G ได้เยอะ โอกาสของผู้เล่น E-Wallet ก็เพิ่มตาม และการแข่งขันของผู้เล่นในตลาดก็เน้นจูงใจลูกค้าเดิมให้ขึ้นมาใช้ E-Wallet ก่อน ดังนั้นคนไม่มีฐานเดิม ก็คงอยู่ยากในสถานการณ์ Red Ocean แบบนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา