ถือเป็น E – Wallet ที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะ Airpay ของกลุ่ม Garena สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้งานได้กว่า 1.4 ล้านคน หลังเริ่มให้บริการปี 2557 แต่ตอนนี้ Airpay จะยกระดับไปอีกขั้น ผ่านการทำตลาด Virtual Prepaid Card หรือบัตรเติมเงินเสมือนที่ใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ทั่วโลก แต่จะทำให้ Airpay โตได้ขนาดไหนต้องไปดูกัน
ยกระดับสู่ผู้เล่น E – Wallet ชั้นนำ
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ Airpay เล่าให้ฟังว่า Garena เริ่มต้นจากธุรกิจ Entertainment ผ่านการให้บริการเกม และแพลตฟอร์พูดคุยออนไลน์ จากนั้นก็ขยับเข้ามาให้บริการธุรกิจ E – Commerce ผ่านแพลตฟอร์ม Shopee แต่เพื่อให้ Garena สามารถตอบโจทย์ได้ทุกบริการบนโลกออนไลน์ การสร้างแพลตฟอร์มทางการเงินจึงจำเป็น ซึ่งสุดท้ายก็จบที่ Airpay โดยเริ่มให้บริการในรูปแบบเคาท์เตอร์เติมเงินเกม ก่อนขยับมาสู่ E – Wallet ที่เชื่อมต่อหลายบริการ
“Airpay มีผู้ใช้งาน 1.4 ล้านคน และมีเคาท์เตอร์เติมเงินอีก 85,000 จุดที่อยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และอื่นๆ เช่นห้าง Tesco Lotus นอกจากนี้บริษัทยังร่วมกับบริการประเภท Life Style เช่นซื้อตั๋วภาพยนตร์, ซื้อตั๋วเครื่องบิน และรถทัวร์ รวมถึงชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อสร้าง Ecosystem ภายใน E – Wallet ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกยิ่งขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้ Airpay จึงเป็นผู้เล่นในบริการ E – Wallet ชั้นนำ ที่ไม่ได้ถูกใช้แค่เติมเงินเกม เพราะตอนนี้การใช้งานบริการ Life Style คิดเป็น 70% ของ Transection ทั้งหมด”
สร้าง Virtual Prepaid Card กระตุ้นยอดจับจ่าย
แต่เพื่อสร้างการเติบของการใช้งาน E – Wallet ทาง Airpay จึงร่วมมือกับ Master Card และธนาคารธนชาต เพื่อพัฒนา Virtual Prepaid Card ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งาน E – Wallet ในการซื้อสินค้าออนไลน์ได้ทั้งเว็บไซต์ใน และต่างประเทศ เพราะปัจจุบันการใช้จ่ายออนไลน์มีมากขึ้น และบางส่วนบังคับให้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเท่านั้น ซึ่ง Virtual Prepaid Card ทำได้ เพราะมีตัวเลข 16 หลัก กับหมายเลข CVC2 เหมือนบัตรเครดิตทุกประการ เพียงแค่ผู้ใช้เติมเงินเข้าไปใน E – Wallet ก็สามารถใช้จ่ายได้ทันที
ขณะเดียวกัน การสร้างบัตร Virtual Prepaid Card ยังช่วยเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อคนให้กับ Airpay จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาท/เดือน/คน เป็น 4,500 บาท/เดือน/คน ที่สำคัญในปี 2560 ทาง Airpay จะออก Prepaid Card หรือบัตรแข็งออกมา เพื่อให้ผู้ใช้งาน Airpay นำไปใช้งานตามร้านค้าทั่วไปที่รับชำระโดยบัตรเครดิตได้ ถือเป็นการยกระดับการใช้งาน E – Wallet ของผู้ใช้จากเดิมที่ใช้จ่ายบนโลกออนไลน์เท่านั้น พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดผู้ใช้งาน Airpay ให้ถึง 4.5 ล้านคนภายในปี 2560 เช่นกัน
การเปิดใช้งาน Airpay Virtual Prepaid Card สามารถทำได้โดยดาวน์โหลด Application Airpay จากนั้นลงทะเบียนใช้งาน E – Wallet ก่อนกดไปที่ Airpay Card เพื่อเปิดใช้งานบัตร ส่วนเวลาต้องการชำระสินค้า หรือบริการออนไลน์ ก็กดที่ Airpay Card และกดที่เครื่องหมายล็อคเพื่อมองเห็นตัวเลข CVC2 จากนั้นกรอกตัวเลขดังกล่าวเพื่อชำระเงินออนไลน์ โดยทางระบบจะมีการป้องกันอีกชั้นผ่านการส่ง OTP (One time Password) มาที่ Application เพื่อการันตีการใช้งาน
ชี้โอกาส E – Money ยังกว้างใน SEA
ในทางกลับกัน มณีรัตน์ มองว่า การใช้งาน Non – Cash (การชำระใดๆ ที่ไม่ใช้เงินสด) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียง 2% จากมูลค่าการจับจ่ายทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกับสหรัฐอเมริกาที่ Cash กับ Non – Cash มีอัตราส่วนเท่ากัน ดังนั้นการทำตลาด E – Money ในภูมิภาคนี้จึงมีโอกาสอีกมาก โดยนอกจากประเทศไทย Airpay ยังทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย และเตรียมขยายไปในภูมิภาคนี้ เพื่อขึ้นเป็น Internet Company ขนาดใหญ่ของภูมิภาค
สำหรับมูลค่า E – Payment ในประเทศไทยมีการเติบโตระหว่างปี 2553 – 2558 ราว 20% โดยปี 2558 คิดเป็นมูลค่าราว 68,200 ล้านบาท และในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.43 แสนล้านบาท ถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอย่างจีน, อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่สำคัญการเติบโตนี้จะถูกกระตุ้นผ่านนโยบายของรัฐบาล เช่น Digital E – Payment และ Cashless Society ดังนั้นถึงในไทยจะมีผู้เล่น E – Wallet อยู่เยอะ แต่ก็ยังมีช่องว่างอีกมาในการทำตลาด
สรุป
จริงๆ แล้ว Virtual Prepaid Card เริ่มให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 และมีการเติบโตอย่างเงียบๆ เพราะการช้อปปิ้งออนไลน์เข้ามาเป็นตัวผลักดันหลัก และถึงตอนนี้จะมีผู้เล่นในตลาดมากกว่า 5 ราย และในแคมเปญโปรโมชั่นจูงใจกันเยอะ ก็คงมีเวลาอีกนานกว่าตลาดจะเต็ม
ที่สำคัญ Brand Inside มองว่า Airpay เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม เพราะผู้บริโภคเริ่มเรียนรู้ในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับเงินทุนการทำตลาดที่น่าจะเยอะอยู่ ผ่านการเป็น Unicorn เพียงไม่กี่ตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนคนที่หนักใจก็คงไม่พ้นผู้ให้บริการโทรคมนาคม เนื่องจากเจอคู่แข่งที่โหมตลาดอย่างหนัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา