หนึ่งในความพยายามในการบริหารต้นทุนของสายการบินให้คุ้มค่ามากที่สุดต่อหนึ่งเที่ยวบิน อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการลดขนาดที่นั่งชั้นประหยัดลงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถเพิ่มเก้าอี้เข้าไปให้ได้ในแต่ละแถว ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดที่เครื่องจะรองรับได้ในแต่ละเที่ยว ไปจนถึงลดน้ำหนักต่างๆ บนเครื่องเพื่อเป็นการประหยัดน้ำมัน
อย่างไรก็ตามด้วยการแข่งขันในธุรกิจการบินปัจจุบันที่สูงขึ้นมาก สายการบินก็เริ่มมีแนวคิดในการลดต้นทุนไปอีกขั้น ด้วยการนำหน้าจอชมภาพยนตร์และสื่อบันเทิงหลังที่นั่งที่เรียกว่า In-Flight Entertainment ออก และบางสายการบินก็ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนไฟล์ทแทน
ปัญหาใหญ่คือต้นทุน In-Flight Entertainment ที่แพงและเพิ่มน้ำหนักให้เครื่องบิน
ต้นทุนของ In-Flight Entertainment ตั้งแต่ตัวที่นั่ง, ฮาร์ดแวร์, ค่าติดตั้งไปจนถึงซอฟต์แวร์และลิขสิทธิ์ต่างๆ คาดว่าน่าจะสูงถึงเฉลี่ย 10,000 ดอลลาร์หรือราว 350,000 บาทต่อเก้าอี้หนึ่งตัว ไปจนถึงเพิ่มความเทอะทะและน้ำหนักรวมทั้งหมดให้กับตัวเครื่อง
ไม่รวมประเด็นที่ว่าเทคโนโลยีนี้ล้าสมัยและตกรุ่นค่อนข้างเร็ว ทำให้หลายสายการบินเริ่มพิจารณานำระบบ In-Flight Entertainment ออกไป ซึ่งทั้งช่วยลดต้นทุนค่าติดตั้งและลดน้ำหนักของตัวเครื่องได้พร้อมๆ กัน
เบื้องต้นสายการบิน American Airlines, United Airlines และ Hawaiian Airlines ของสหรัฐเริ่มใช้มาตรการนี้บนเครื่องที่บินเป็นระยะทางสั้นๆ แล้ว
เมื่อผู้โดยสารต่างมีอุปกรณ์กันอย่างน้อยคนละเครื่อง สายการบินจึงใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์
Peter Ingram ประธานเจ้าหน้าที่การค้า (Chief Commercial Officer – CCO) ของสายการบิน hawaiian Airlians กล่าวว่า “ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะพกอุปกรณ์ของตัวเองมาด้วยและก็มักจะไม่สนใจอุปกรณ์ที่เราติดตั้งเอาไว้ให้หลังที่นั่ง ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจของสายการบิน ในการยกเลิกเก้าอี้ที่มาพร้อมหน้าจอ”
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินมองว่าสายการบินค่อนข้างเสี่ยงในการตัดสินใจนี้ โดยเฉพาะกับผู้โดยสารที่ไม่ต้องการใช้งานอุปกรณ์ของตัวเอง โดยผู้โดยสารส่วนหนึ่งมองว่า การใช้อุปกรณ์ของตัวเองนั้นเปลืองแบตเตอรี่ เขาไม่อยากลงจากเครื่องพร้อมกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่แบตหมด หรือแม้แต่การใช้โน้ตบุ๊ค, แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเพื่อชมภาพยนตร์ไม่สะดวกเท่ากับหน้าจอที่ติดตั้งมาให้โดยตรง
บางสายการบินสวนทาง เล็งดึงส่วนแบ่งตลาดจากบริการ In-Flight Entertainment แทน
อย่างไรก็ตามใช่ว่าทุกสายการบินจะกำลังพิจารณาเดินตามแนวทางข้างต้นทั้งหมด เพราะอย่างน้อยสายการบิน Delta กลับมองโอกาสดังกล่าวในการดึงส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น โดยอาศัย In-Flight Entertainment เป็นจุดขาย โดยปีที่ผ่านมา สายการบิน Delta เริ่มให้บริการส่งข้อความกันระหว่างผู้โดยสารบนไฟล์ท ไปจนถึงเปลี่ยนหน้าจอใหม่และเพิ่มคอนเทนท์ให้มากขึ้น
Andrew Wingrove กรรมการผู้จัดการของสายการบิน Delta กล่าวว่า “พวกเรากำลังพยายามเลียนแบบการใช้ชีวิตบนพื้นดินของผู้โดยสาร ที่มีสื่อต่างๆ อยู่ในการควบคุมด้วยปลายนิ้วมือ ให้ขึ้นมาอยู่บนท้องฟ้า” พร้อมกล่าวเสริมว่า “เราเชื่อมั่นอย่างมากในระบบความบันเทิงจากหน้าจอหลังเก้าอี้สำหรับผู้โดยสาร”
เช่นเดียวกับ JetBlue Airways สายการบินโลว์คอสของสหรัฐ ที่ยังคงให้ความสำคัญกับ In-Flight Entertainment ที่เป็นจุดขายของสายการบินตั้งแต่เริ่มให้บริการ
สรุป
เป็นประเด็นที่เข้าใจได้สำหรับสายการบินในความพยายามที่จะลดต้นทุน แต่การตัดทางเลือกความบันเทิง ที่อาจจะมีไม่ค่อยมากนักของผู้โดยสารระหว่างการเดินทางก็อาจเป็นการเดิมพันที่สูงพอสมควร หากนำวิธีนี้มาใช้งานจริง สายการบินก็อาจเสี่ยงเสียผู้โดยสารทั้งขาประจำและขาจร ที่ให้ความสำคัญกับความบันเทิงบนเครื่องที่หันไปหาสายการบินคู่แข่งก็ได้
อ้างอิง – The New York Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา