ทักษะในการเลือกใช้บริการสายการบินที่เก่งขึ้นของผู้บริโภค ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ดีเหมือนเดิม ทำให้ปี 2562 เป็นปีที่มีสายการบินล้มละลายจำนวนมาก รวมถึงบริษัทนำเที่ยวยักษ์ใหญ่อีกจำนวนหนึ่งด้วย
รายย่อยจมดิ่ง สบโอกาสรายใหญ่ขยายตัว
จะบอกว่าปี 2562 เป็นปีที่มีสายการบินล้มละลายมากที่สุดก็ได้ เพราะขนาดยังไม่ถึงสิ้นปีก็มีแล้วหลายสิบรายที่ต้องประกาศเลิกบิน พร้อมติดสถานะล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็น Jet Airways สายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost) ของอินเดีย, Aigle Azur กับ XL Airways ของฝรั่งเศส และ Avianca ของบราซิลเป็นต้น
เหตุผลหลักที่สายการบินเหล่านี้ล้มละลายก็ไม่พ้นการแข่งขันสายการบิน Low-Cost ที่ดุเดือดกว่าเดิม, ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่มากขึ้น ประกอบกับเรื่องค่าเงินที่ค่อนข้างผันผวน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจมีสายการบินอื่นๆ ประสบปัญหาล้มละลายขึ้นมาอีกก็เป็นได้
ในทางกลับกันการล้มละลายของสายการบินเหล่านี้ก็ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสายการบินที่ธุรกิจยังแข็งแกร่ง ทั้งสายการบินปกติ และสายการบิน Low-Cost ผ่านการที่บริษัทเหล่านี้จะได้สิทธิ์ในการซื้อเครื่องบิน, มีเส้นทางบินใหม่ๆ รวมถึงซื้อโรงเก็บแครื่องบินจากคู่แข่งที่เพิ่งล้มละลายไป
ตัวอย่างคือสายการบิน Low-Cost ของอินเดีย SpiceJet แจ้งว่า เตรียมเข้าซื้อเครื่องบินรุ่น 737 Max ของ Boeing จากสายการบิน Jet Airway ที่ล้มละลายอยู่ตอนนี้ รวมถึงฝั่งสายการบิน Low-Cost ชั้นนำของยุโรป Ryanair ก็เตรียมซื้อเครื่องบินรุ่น A320 ของ Airbus จากบริษัทนำเที่ยว Thomas Cook ที่ล้มละลายด้วย
อย่างไรก็ตามยังมีหลายฝ่ายค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับการเข้าซื้อเครื่องบินเหล่านี้ เพราะต้องได้รับอนุมัติการเปลี่ยนแปลงซอฟต์แวร์ก่อนถึงจะขึ้นบินได้ และถึงจะเปลี่ยนแปลงแล้ว การตรวจเช็คสภาพเพื่อให้เครื่องบินพร้อมบินที่สุดก็เป็นเรื่องจำเป็นทางด้านความปลอดภัยเช่นกัน
สรุป
กลายเป็นปีที่มีปัญหาของหลายสายการบิน อาจเพราะ Digital Disruption จนผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ๆ ในการท่องเที่ยว หรือเป็นเพราะสายการบินเหล่านี้ไม่ปรับตัว พร้อมยึดความสำเร็จเดิมเป็นที่ตั้ง ส่วนปีนี้จะมีสายการบินไหนตกอยู่ในสถานะล้มละลายอีกบ้าง ก็คงต้องติดตามกันครับ
อ้างอิง // JAPANTODAY
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา