Airbus จ่ายค่าปรับ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กรณีติดสินบนเพื่อที่จะขายเครื่องบินของบริษัท

แอร์บัสต้องจ่ายค่าปรับกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมไปถึงสหรัฐ หลังจากที่ 3 ประเทศดังกล่าวได้สืบสวนกรณีที่บริษัทจ่ายสินบนให้กับสายการบินและตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ มานานนับสิบปี

Airbus Production Plant โรงงานประกอบ แอร์บัส
โรงงานประกอบเครื่องบินของแอร์บัส – ภาพจาก Shutterstock

Airbus ต้องจ่ายค่าปรับกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ​ 124,000 ล้านบาท ให้กับ 3 ประเทศได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา หลังจากมีการระบุว่าบริษัทเคยจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐและปิดบังเรื่องดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้บริษัทสามารถชนะการขายเครื่องบินให้แก่เอกชน รวมไปถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้

สำหรับคดีสินบนนี้ทางการของ 3 ประเทศได้ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลานับสิบปี ในกรณีของเครื่องบินพาณิชย์มีสายการบินที่เกี่ยวข้อง เช่น AirAsia จากมาเลเซีย จากประเทศศรีลังกา สายการบิน Garuda และ Citilink ของอินโดนีเซีย สายการบินไต้หวันที่ล้มละลายไปแล้วอย่าง TransAsia ฯลฯ รวมไปถึงการจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้กับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม กานา ฯลฯ

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DOJ) ได้กล่าวว่าที่ผ่านมา Airbus ได้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของหลายๆ ประเทศ รวมไปเจ้าหน้าที่จากจีน เพื่อที่บริษัทจะได้สามารถขายสินค้าของบริษัท ซึ่งรวมไปถึงอากาศยานของบริษัท โดยบริษัทนั้นใช้บริษัทหรือตัวแทนจากภายนอกบริษัทในการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้

ตัวอย่างการให้สินบน สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานกรณีต่างๆ ไว้ เช่น การติดสินบนผู้บริหารสายการบิน Garuda โดยจ่ายเงินผ่านภรรยาของผู้บริหาร การจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐบาลกานาและอินโดนีเซีย ในการขายเครื่องบินทางทหาร ขณะที่เวียดนาม Airbus ได้จ่ายสินบนผ่านบริษัทในฮ่องกงให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้นำเวียดนาม

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกรณีของสายการบินราคาประหยัดอย่าง AirAsia โดย Airbus จ่ายค่าสนับสนุนทีมกีฬาที่ CEO ของ AirAsia ได้เป็นเจ้าของทีมร่วมในปี 2013 ถึง 2015 กว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในอีเมล์ของพนักงาน Airbus เองได้กล่าวว่า “ถ้าหากไม่มีการจ่ายสินบนแล้วบริษัทเราคงไม่ได้ยอดสั่งจอง Airbus A330 กว่า 25 ลำ”

ค่าปรับครั้งนี้ถือเป็นค่าปรับครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมการบิน และการที่ Airbus จ่ายค่าปรับครั้งนี้เพื่อที่จะพ้นจากการดำเนินคดีอาญา ผลที่ตามมาอาจทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในการจัดหาเครื่องบินของเอกชน หรือภาครัฐในทวีปยุโรปหรือในสหรัฐ ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับบริษัทมากกว่าเดิม

ที่มา – DW, The Independent, The Strait Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ