Airbnb คือบริการจองที่พักแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม สำหรับคนที่อยากพักในบ้าน บรรยากาศดี และมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าโรงแรม ด้วยกระแสความนิยมทำให้มูลค่ากิจการของ Airbnb พุ่งขึ้นไปถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท
แต่ใครจะไปคิดว่าอนาคตของ Airbnb จะเริ่มถึงทางตัน เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้คงไม่มีใครอยากเดินทางไปเที่ยว หรือถ้าอยากไปก็คงไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างประกาศห้ามเดินทางกันเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่า Airbnb ซึ่งทำธุรกิจให้บริการที่พักต้องได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้
โควิด-19 กระทบ Airbnb อย่างหนัก
มีการคาดการณ์ว่า Airbnb จะสูญเสียรายได้กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 นี้ เนื่องจากยอดการเข้าพักที่หายไปกว่า 80% ในสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่มีการเข้าพักสูงถึง 500,000 ครั้งต่อสัปดาห์ เหลือเพียง 100,000 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนมูลค่ากิจการก็ลดลงมากเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม Brian Chesky CEO ของ Airbnb ยังคงยืนยันว่าจะยังไม่มีการปลดพนักงานออกแต่อย่างใด เพราะในขณะนี้ Airbnb ยังคงหวังว่าจะสามารถระดมทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท จาก Silver Lake และ Sixth Street Partners ได้เช่นเดิม แต่บางกระแสข่าวกล่าวว่า นักลงทุนบางกลุ่มอาจตัดสินใจไม่ลงทุนกับ Airbnb เพราะ Airbnb ไม่อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารที่มีอยู่เดิม
จากที่ก่อนหน้านี้ Airbnb วางแผนจะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินคาดการณ์ว่า Airbnb จะมีมูลค่ากิจการสูงถึง 5-7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6-2.2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ ที่ Airbnb จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเร็วๆ นี้ได้ตามที่วางแผนไว้
ลูกค้า เจ้าของบ้าน คือสิ่งที่ Airbnb ต้องเลือก
แต่ปัญหาที่น่าหนักใจและส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือของ Airbnb มากที่สุดในช่วงนี้กลับไม่ใช่เรื่องรายได้ที่หายไปมาก แต่เป็นเรื่องความไม่พอใจของลูกค้าที่จองที่พักผ่าน Airbnb แล้วต้องการยกเลิก หรือเลื่อนการเข้าพัก เนื่องจากสถานการณ์บีบบังคับทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเข้าพักได้
ซึ่งในอดีต Airbnb ให้สิทธิเจ้าของที่พักเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ยกเลิกที่พักหรือไม่ แน่นอนว่าลูกค้าส่วนใหญ่เจอปัญหาเจ้าของที่พัก ไม่ยอมให้ยกเลิก หรือให้ยกเลิกแต่คืนเงินเพียง 50% ของที่จ่ายไปเท่านั้น แม้ว่าที่พักที่จองไว้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ และเรียกร้องให้ Airbnb จัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ในที่สุด Airbnb ก็เปลี่ยนนโยบายการยกเลิกการจองที่พักสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้ลูกค้าสามารถยกเลิกการจองที่พัก ที่จองไว้ก่อนวันที่ 14 มีนาคม และมีกำหนดเข้าพักตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม
เมื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าจบ แต่กลายเป็นว่าเจ้าของที่พักที่ให้เช่าที่พักผ่าน Airbnb กลับไม่พอใจแทน เพราะเมื่อไม่มีลูกค้า ถูกยกเลิกการจองกระทันหัน โดยไม่ได้ยึดเงินมัดจำเก็บไว้ ย่อมส่งผลต่อกำไรที่เจ้าของที่พักจะได้ แถมบางรายกู้เงินเพื่อซื้อที่พักมาให้เช่า ไม่ได้ซื้อด้วยเงินสดแต่อย่างใด
ซึ่ง Airbnb ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเจ้าของที่พักด้วยเช่นกัน โดยวางแผนใช้เงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 พันล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับเจ้าของที่พักเป็นจำนวน 25% ของยอดที่เจ้าของที่พักต้องได้ และจะมีการก่อตั้งกองทุนมูลค่ากว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเจ้าของที่พักที่ยังต้องจ่ายค่างวดผ่อนที่พักกับธนาคาร
อย่างไรก็ตามเจ้าของที่พักบางคนมองว่ามาตรการของ Airbnb เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุดเท่าไหร่นัก เพราะคู่แข่งของ Airbnb อย่าง Vrbo ที่ให้บริการจองที่พักเช่นกัน ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนโยบายการยกเลิกห้องพัก และให้เจ้าของที่พักเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ลูกค้ายกเลิกหรือไม่เช่นเดิม
รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
เมื่อปี 2017 Airbnb มีต้นทุนที่เกิดจากการทำธุรกิจ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท แต่ผ่านมาเพียง 2 ปี ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แต่รายได้กลับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าต้นทุน
ในปี 2017 มีรายได้ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2019 รายได้เพิ่มขึ้นกลายเป็น 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเสียอีก
ต้นทุนในการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Airbnb ใน San Francisco การจ้างพนักงานเพิ่มหลายพันคน รวมถึงการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในที่พัก หลังจากที่มีข่าวลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยที่เกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้
ที่มา – WSJ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา