Airbnb เว็บแชร์ห้องพักที่กำลังได้รับความนิยม เตรียมตัวบุกตลาดจีนเต็มตัว ด้วยการเปลี่ยนชื่อใหม่ให้จับใจคนจีนเป็น Aibiying (爱彼迎) ที่นอกจากยังมีเสียงคล้ายๆ Airbnb แล้วยังมีความหมายดี แปลว่า “ยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความรัก”
จีนถือเป็นตลาดใหญ่ของ Airbnb โดยบริษัทให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมา มีแขกที่พัก Airbnb ในจีนถึง 1.6 ล้านคน และปัจจุบัน Airbnb มีห้องพักในจีนเกือบ 80,000 รายการ ในทางกลับกัน ลูกค้าชาวจีนที่เดินทางออกต่างประเทศ ก็ใช้ Airbnb กันเยอะ (แม้บริษัทไม่ได้ทำตลาดคนจีนมากนัก) ถึง 5.3 ล้านคน (ยอดสะสมทั้งหมด)
การรีแบรนด์ชื่อเรียกในจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ของบริษัทตะวันตก ก่อนหน้านี้ Evernote บริการจดโน้ตที่ได้รับความนิยม ก็เข้าไปทำตลาดจีนในชื่อ “Yinxiang Biji” โดยยังรักษาโลโก้เดิมทุกประการ (แค่เปลี่ยนชื่อเรียกในภาษาจีน ให้คนจีนเรียกได้ง่ายขึ้น)
นอกจากการรีแบรนด์แล้ว Airbnb ยังจ้างพนักงานในจีนเพิ่ม โดยตั้งเป้าเพิ่มพนักงาน 3 เท่า และลงทุนเป็นเม็ดเงินในจีนเพิ่ม 2 เท่า จีนยังถือเป็นประเทศเดียวที่ Airbnb ตั้งศูนย์วิศวกรรมของตัวเอง ถ้าไม่นับในประเทศแม่อย่างสหรัฐ
Airbnb ยังนำบริการตัวใหม่ Trips หรือบริการนำเที่ยวโดยคนท้องถิ่น บุกเข้าไปยังจีนด้วย โดยเริ่มจากเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองแรกในจีน (Trips เพิ่งเปิดตัวในกรุงเทพไปเมื่อเร็วๆ นี้)
บริษัท Airbnb China ถูกแยกออกมาจากบริษัทแม่ เพื่อให้ทำงานได้จีนอย่างคล่องตัว และรับมือกับรัฐบาลจีนได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อบริษัทแม่ในสหรัฐ (เช่น ถ้าหากทางการจีนขอข้อมูล ก็ให้เฉพาะส่วนของ Airbnb China) ทาง Airbnb ระบุว่าจะเข้าไปเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ 4 เมืองใหญ่ในจีนคือ เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ฉงชิ่ง และกว่างโจว เพื่อขยายผลของบริการประเภท home sharing ในจีนด้วย
นอกจากนี้ การแยกบริษัทสาขาในจีน ยังทำให้ Airbnb China ร่วมมือกับบริษัทจีนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการจ่ายเงินทั้ง Alipay หรือล็อกอินด้วยบัญชี WeChat รวมถึงการแปลข้อความทุกอย่างเป็นภาษาจีน มีศูนย์บริการลูกค้า 24 ชั่วโมงในภาษาจีนกลาง
คู่แข่งของ Airbnb ในจีนคือบริการสัญชาติจีนเอง ได้แก่ Tujia ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Ctrip ผู้ให้บริการจองโรงแรมรายใหญ่ของจีน และ Expedia ผู้ให้บริการจองโรงแรมรายใหญ่ของโลก
Tujia มีห้องพักในระบบถึง 430,000 รายการ ถือว่าเยอะกว่า Airbnb มาก ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายสำคัญของ Airbnb ในการเอาชนะ Tujia ให้จงได้ มิฉะนั้นก็อาจต้องถอนตัวออกจากตลาดจีนดังเช่นที่ Uber เคยโดนมาอย่างเจ็บปวด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา