รวมแง่มุมความคิดของ CEO ของ AirAsia ในด้านอุตสาหกรรมการบิน รวมไปถึงแง่มุมในการบริหารคนซึ่งสายการบินแห่งนี้เป็นหนึ่งในบริษัทที่คนอยากทำงานมากแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
Tony Fernandes ซึ่งเป็น CEO ของสายการบินราคาประหยัดอย่าง AirAsia ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อทั้งต่างประเทศและสื่อในประเทศมาเลเซียเกี่ยวกับมุมมองของเขาที่มองเรื่องของอุตสาหกรรมการบิน เตรียมเปิดฐานบินใหม่ๆ และรวมไปถึงการลงทุนในเทคโนโลยีซึ่งเขาเองได้กล่าวว่าเป็นก้าวสำคัญของ AirAsia เป็นอย่างมาก
Brand Inside รวมแง่ความคิดและแผนของเขาในช่วงนี้มาฝาก
ไม่ซื้อ Malaysia Airlines แน่นอน เชื่อว่ากลับมามีกำไรได้
นายใหญ่ของ AirAsia ได้ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asian Review เรื่องของสายการบินแห่งชาติของมาเลเซีย อย่าง Malaysia Airlines ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการพิจารณาของรัฐบาลมาเลเซียว่าจะดำเนินการสายการบินต่อไป หาผู้สนใจมาร่วมลงทุน ขายกิจการ หรือแม้แต่ยกเลิกกิจการ โดยเขาได้ตอบว่า “AirAsia ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดแล้วซื้อสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบอย่าง Malaysia Airlines อาจเป็นความผิดพลาด”
เขายังได้เสริมถึงเรื่องนี้โดยให้สัมภาษณ์กับ The Edge Markets สื่อธุรกิจในประเทศมาเลเซียว่า “ใน Malaysia Airlines มีคนเก่งๆ ในองค์กรมากมาย แบรนด์ของสายการบินก็ถือว่าดี” ซึ่งเขาเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วสายการบินแห่งชาติมาเลเซียรายนี้จะสามารถกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง นอกจากนี้เขายังได้กล่าวว่า “การที่ปิดสายการบินไปเลยอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นัก”
ในช่วงที่ผ่านมายังมีข่าวลือที่ว่ารัฐบาลมาเลเซียเคยยื่นข้อเสนอกับเขาที่จะแลกหุ้นของ AirAsia กับหุ้นของ Malaysia Airlines ในการควบรวมกิจการอีกครั้ง หลังจากที่เคยเสนอแนวทางนี้ในช่วงปี 2010
มุ่งหน้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ
สิ่งที่ CEO ของ AirAsia กำลังโฟกัสอยู่ตอนนี้คือเรื่องของการลงทุนในเทคโนโลยี เขามองว่าการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ AirAsia เติบโตก้าวกระโดดอีกครั้ง โดยตอนนี้ AirAsia ได้ปล่อยแพลตฟอร์มการจ่ายเงินอย่าง BigPay ซึ่งมีอายุครบ 1 ปีถ้วนพอดี และเป็นแพลตฟอร์มที่ชาวมาเลเซียใช้ 1 ใน 5 แพลตฟอร์มการจ่ายเงิน นอกจากนี้เขาเองยังตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจส่วนนี้ไปทั่วเอเชียรวมไปถึงประเทศไทยด้วย
เขาเองได้กล่าวในงาน Money20/20 Asia เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประเทศสิงคโปร์ว่า เขาตั้งเป้าที่จะเป็น Super Application ทางการเงิน โดยเขาได้ถามผู้เข้าร่วมงานว่า “มีใครต้องการที่จะลง Application ในโทรศัพท์มือถือหลายร้อย Application บ้าง” โดย Super Application ของแอร์เอเชียที่กำลังพัฒนานั้นจะคล้ายๆ กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่กำลังทำไม่ว่าจะเป็น Grab หรือแม้แต่ Go-Jek ที่กำลังแข่งขันในด้านนี้ด้วย
เขายังได้เปิดเผยอีกว่า 90% ของคนที่ใช้ BigPay นั้นไม่ได้เอามาจ่ายค่าโดยสารเครื่องบิน นอกจากนี้เขาเองยังตั้งเป้าที่จะทำให้คนที่ไม่เข้าถึงทางการเงินสามารถใช้บริการของ BigPay ได้
เตรียมดันมาเก๊าเตรียมเป็นฮับการบินของจีน
CEO ของ AirAsia มีแผนเตรียมใช้สนามบินมาเก๊าในการเป็นฮับการบินอีกแห่งในการบินในประเทศจีน โดยเขามองว่ามาเก๊าก็เป็นเหมือนเมืองใหญ่ๆ ในแผ่นดินจีน และมาเก๊ายังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนา Greater Bay Area ของประธานาธิบดีของจีนอีกด้วย ไม่เพียงแค่มาเก๊าแค่นั้น AirAsia ยังมีไฟลท์บินไปยังสนามบินอื่นๆ ในละแวกนี้ เช่น ฮ่องกง เซิ่นเจิ้น หรือแม้แต่กวางโจว
เขาเองได้กล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า แอร์เอเชียกำลังขอใบอนุญาตเพื่อที่จะบินเข้าประเทศจีนโดยใช้มาเก๊าเป็นฮับ ก่อนหน้านี้ AirAsia เคยมีแผนที่จะร่วมกับกลุ่มทุนในประเทศจีนเพื่อเปิดสายการบิน แต่ดีลดังกล่าวก็ได้ล่มไปเสียก่อน โดยเขามองว่าถ้าหากโอกาสยังไม่มีในเรื่องนี้เขาก็รอได้ และไม่รีบร้อนในการเข้าไปทำตลาดในจีนด้วย
นอกจากนี้เขายังได้พูดถึงมาเก๊าว่า “สนามบินมาเก๊าเชื่อมั่นในตัวผม ในวันที่ผมยังไม่มีอะไร” (ในช่วงก่อตั้งสายการบิน) ปัจจุบันตารางการบินของ AirAsia ในสนามบินมาเก๊านั้นเป็นอันดับ 2 รองจาก Air Macau โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของตารางการบินทั้งหมด
เตรียมเปิดตัว Red Cargo
สิ่งหนึ่งที่ Tony Fernandes เตรียมตัวที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้คือโปรเจค Red Cargo Logistics โดยลูกค้าสามารถติดต่อสายการบินเพื่อที่จะขนส่งสินค้าได้โดยตรง นอกจากนี้แผนการของเขาคือจะรวมขั้นตอนของการทำงานของแผนก Cargo ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน บริการนี้จะเริ่มต้นในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สำหรับไทยแอร์เอเชียจะอยู่ในแผนนี้ในช่วงไตรมาส 2
เขานั้นมองว่าเรื่องของ Cargo ไม่ได้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์เท่าไหร่นัก โดยมีพื้นที่ว่างๆ ในแต่ละเที่ยวสูงถึง 26% ซึ่งเขามองว่าส่วนนี้จะเป็นรายได้ใหม่ๆ ของสายการบิน นอกจากนี้เขาเองก็ได้เตรียมหาพาร์ตเนอร์มาร่วมทำธุรกิจนี้ด้วย
ในอดีตนั้นลูกค้าจะต้องติดต่อคนกลางถึง 2-3 รอบกว่าจะได้ส่งของผ่านเครื่องบิน และใช้เวลานานถึง 138 ชั่วโมง ถึงจะส่งของได้ แต่ Red Cargo จะทำให้ลูกค้าเสียเวลาเพียงแค่ 12 ชั่วโมงก็สามารถส่งของผ่านแอร์เอเชียได้แล้วไม่เพียงแค่นั้น เขายังมองว่า Red Cargo จะช่วยให้การค้าขายในเรื่องของ E-commerce นั้นสะดวกมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย
เขาได้คาดว่า Red Cargo จะทำให้ AirAsia มีรายได้มากถึง 3,000 ล้านบาทในงบปี 2019 โดยเพิ่มเป็นสองเท่าจากรายได้ส่วนนี้ในปี 2018 ที่ผ่านมา
เรื่องของการบริหารคน
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการบริหารคนของสายการบินราคาประหยัดแห่งนี้บริหารคนยังไง โดยเริ่มต้นของสายการบินนั้นมีพนักงานเพียงแค่ 200 คนเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันมีพนักงานของ AirAsia มากถึง 20,000 คน นอกจากนี้ยังเป็นสายการบินที่บริหารไม่เหมือนสายการบินใดๆ และไม่มีสหภาพแรงงานด้วย!
เขาได้กล่าวว่าในการบริหารพนักงานนั้นคือ “ต้องมีความโปร่งใส และทำให้พนักงานสามารถสื่อสารกับใคร เวลาไหนก็ได้” นอกจากนี้เขายังได้เสริมอีกว่า “พนักงานทุกคนสามารถคุยกับผมได้” และสายการบินแห่งนี้ยังมีความหลากหลายในกลุ่มผู้บริหารที่สูงมากด้วย เช่น มีผู้บริหารที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปี
เขาได้ทิ้งท้ายว่าที่สุดแล้วเขาเชื่อว่าพนักงานทุกคนสามารถที่จะทำได้ตามเป้าหมายที่เขาต้องการพิสูจน์ตัวเองในสายการบินแห่งนี้ ซึ่ง AirAsia เป็นสายการบินที่คนอยากสมัครงานมากที่สุดองค์กรหนึ่งในมาเลเซีย เนื่องจากวัฒนธรรมขององค์กรที่ส่งต่อออกไปยังสังคม
ที่มา – SCMP, Business Insider, Channel News Asia, The Edge Markets, Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา