ไทยแอร์เอเชียเห็นเทรนด์ตลาดอินเดียกำลังมาแรง ขณะที่จีนยังเป็นตลาดหลักที่คาดว่ากำลังซื้อจะค่อยๆ ทยอยกลับมา ฝั่งคนไทยนิยมไปจีนมากขึ้นเพราะฟรีวีซ่า
[ ครึ่งแรกของปี จีน อินเดีย อาเซียน โดดเด่น ]
ธันย์สิตา อัครฤทธิภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เล่าให้ฟังถึงผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ที่ผ่านมาว่า ตอนนี้สัดส่วนผู้โดยสารเส้นทางนอกประเทศอยู่ที่ 82% เมื่อเทียบกับปี 2019 ช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่ในบางประเทศได้เกินช่วงก่อนโควิดไปแล้วด้วย
ส่วนอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยของครึ่งแรกปีนี้อยู่ที่ 89% ตลาดโดดเด่นยังเป็นจีน อินเดีย และอาเซียน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร ดังนี้
- จีน อัตราขนส่งผู้โดยสาร 92% มีจำนวนที่นั่ง 55% เทียบกับก่อนโควิด
- อินเดีย อัตราขนส่งผู้โดยสาร 91% มีจำนวนที่นั่ง 116% เทียบกับก่อนโควิด
- อาเซียน อัตราขนส่งผู้โดยสาร 89% มีจำนวนที่นั่ง 88% เทียบกับก่อนโควิด
ในครึ่งปีที่ผ่านมา แอร์เอเชียได้ขนส่งผู้โดยสาร
- จีน 15% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 3.4 ล้านคน
- มาเลเซีย 15% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 2.4 ล้านคน
- อินเดีย 20% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 1 ล้านคน
สำหรับยอดจองในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างดี แต่พฤติกรรมผู้บริโภคมีทิศทางไปในเชิงซื้อตั๋วเครื่องบินแบบกะทันหันและเดินทางระยะทางสั้นๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปยังจีนเพราะนโยบายฟรีวีซ่า
ตอนนี้แอร์เอเชียกินส่วนแบ่งการตลาด 40% ในตลาดการบินระหว่างประเทศแล้ว ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ตลาดอินเดียเติบโต รับเศรษฐกิจเดินหน้าพัฒนา
ภาพรวมของเส้นทางการบินเติบโตมากหลักๆ มาจากมาตรการของรัฐบาล เช่น ฟรีวีซ่า การเจราจาสิทธิการบิน ทำให้ในช่วงนี้มีตลาดที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอินเดียที่กำลังมาแรง
ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจประเทศอินเดียมากขึ้นเพราะมีความแตกต่างโดดเด่นจากประเทศอื่น ขณะที่ทางฝั่นคนอินเดียเอง คนท้องถิ่นเริ่มใช้จ่ายมากขึ้นในภาพรวมเพราะเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ช่วงพัฒนา มีสินค้าแบรนด์เนม การกิน การใช้ เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก อีกส่วนหนึ่งมาจากที่อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 1 แล้วด้วย
สถานที่ยอดนิยมของคนอินเดียที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมักจะเป็นจังหวัดที่มีทะเล เช่น ภูเก็ต กระบี่ และพัทยา แต่ส่วนใหญ่มักจะเดินทางมาลงที่กรุงเทพฯ แล้วต่อรถไปมากกว่า
ทั้งนี้ แอร์เอเชียมองว่าตลาดอินเดียต้องใช้เวลาอีกราว 5 ปีกว่าที่จะเป็นตลาดยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวไทยได้ แต่ปัจจุบันเติบโต 10-20% ได้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมากแล้ว
อีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เนปาล ที่คาดว่าน่าจะมีคนไทยไปมากกว่าอินเดียเพราะเป็นเส้นทางเอเวอเรสต์จากกลุ่มที่ชอบการเดินทางธรรมชาติ และกลุ่มที่มีความสนใจเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ที่มีความคล้ายกันกับไทย
ส่วนเวียดนามยังเป็นตลาดที่แข็งแรงมาก มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 90%
แอร์เอเชียยังมองว่า จีนยังเป็นตลาดหลักของเส้นทางต่างประเทศและของไทย กำลังซื้อของจีนเริ่มกลับมาแล้ว แต่ภาครัฐจีนก็ยังมีโยบายเที่ยวในประเทศเหมือนกัน ส่วนคนไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าไปท่องเที่ยวจีนมากขึ้นจากนโยบายฟรีวีซ่าราว 20%
เปิดเส้นทางใหม่รับเทรนด์ตลาดอินเดีย-อาเซียน
เพราะการเติบโตของตลาดอินเดียและอาเซียน แอร์เอเชียจะเริ่มให้บริการเส้นทางการบินใหม่ล่าสุด 3 เส้นทางด้วยกัน คือ
- กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – ไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย (4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์) เริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ราคาเริ่มต้นที่ 2,990 บาทต่อเที่ยวบิน
- ภูเก็ต-เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา (3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์) เริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ราคาเริ่มต้นที่ 1,550 บาทต่อเที่ยวบิน
- ดอนเมือง-ฟูก๊วก ประเทศเวียดนาม เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567
แอร์เอเชียตั้งเป้าว่าในเดือนสิงหาคมจะทยอยเปิดตัวอีก 3 เส้นทางใหม่ ระหว่างประเทศ รวมเป็น 6 เส้นทางในไตรมาสที่ 3 นี้ (กรกฎาคม-กันยายน) โดยเน้นตลาดอินเดียและอาเซียนที่กำลังเติบโต
เป้าปี 2024 ขนส่งผู้โดยสาร 22 ล้านราย
แอร์เอเชียตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในช่วงสิ้นปีนี้ จำนวนที่นั่งของเส้นทางการบินระหว่างประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ 85% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ส่วนตัวเลขอัตราขนส่งผู้โดยสารคาดว่าจะอยู่ที่ 87%
ในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารที่เดินทางกับแอร์เอเชียทั้งหมด 21-22 ล้านราย ในจำนวนเป็นผู้โดยสารที่มาจากต่างประเทศ 8-9 ล้านรายหรือเติบโตประมาณ 20%
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา