ผู้เชี่ยวชาญเผยนั่งเครื่องบินยุคโควิดอาจไม่ปลอดภัย ผู้โดยสารต้องระวังเสี่ยงติดโรคได้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก สายการบินต่างๆ จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินเกือบทั้งหมด ส่วนสายการบินที่ยังคงทำการบินอยู่ได้ส่วนใหญ่เป็นสายการบินสำหรับขนส่งสินค้าทางอากาศ

ภาพจาก Unsplash โดย Gerrie van der Walt

แม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในบางพื้นที่จะยังไม่มีท่าทีว่าจะบรรเทาลงเลย แต่สายการบินต่างๆ ก็ได้เริ่มวางแผนที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งแล้ว เช่น Ryanair จะเริ่มกลับมาทำการบินประมาณ 40% ของเที่ยวบินในช่วงเวลาปกติ ในเดือนกรกฎาคม ส่วน EasyJet ก็ประกาศเช่นเดียวกันว่าจะเริ่มกลับมาทำการบินบางเส้นทางอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนในประเทศไทยเองบางสายการบินก็ประกาศว่าจะเริ่มทำการบินบางเส้นทางแล้วเช่นกัน แต่ยังคงต้องปฎิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่เช่นเดิม

คำถามที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่คือ ในสถานการณ์แบบนี้การเดินทางด้วยเครื่องบิน จะมีความปลอดภัยแค่ไหน จะมีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 หรือไม่?

นั่งเครื่องบินปลอดภัยแค่ไหน?

คำตอบที่ได้ยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากโควิด-19 ยังเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ข้อมูลยังมีอยู่น้อย และยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาโรคที่แพร่กระจายผ่านระบบทางเดินหายใจ โดยมหาวิทยาลัย Emory University ในเมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2018 พบว่า การแพร่กระจายของโรคระบบทางเดินหายใจสามารถแพร่กระจายไปได้ในระยะประมาณ 1 เมตร ดังนั้นผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือคนที่นั่งในแถวหน้า และหลัง ของผู้โดยสารที่ป่วยเป็นโรคที่แพร่กระจายผ่านระบบทางเดินหายใจ

สนามบินเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยง ที่ผู้โดยสารอาจรับเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว ภาพจาก Unsplash โดย Neil Martin

ในโลกแห่งความจริงผู้โดยสารอาจไม่ได้รับเชื้อมาจากคนที่นั่งใกล้ๆ ในเครื่องบิน เพราะยังมีโอกาสที่ผู้โดยสารจะรับเชื้อมาขณะเดินอยู่ในสนามบิน โดยเฉพาะการจับพื้นผิวต่างๆ ที่อาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ รวมถึงการรับเชื้อผ่านพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเดินไปมา มีโอกาสสัมผัสกับผู้โดยสารคนอื่นๆ บนเครื่องบินตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดการกระจายของเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศแคนาดา เคยแถลงว่าไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม จากผู้โดยสาร 2 คนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 บนเที่ยวบินจากกว่างโจว ประเทศจีน ไปยังโตรอนโต ประเทศแคนาดาแต่อย่างใด แม้ว่าเที่ยวบินนี้จะใช้เวลาบินนานถึง 15 ชั่วโมงก็ตาม

อากาศในเครื่องบินสะอาดจริง แต่ยังมีความเสี่ยง

Jean-Brice Dumont วิศวกรของบริษัท Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ยืนยันว่าการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ในเครื่องบิน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะเครื่องบินสมัยใหม่ได้รับการออกแบบให้มีการหมุนเวียนอากาศจากภายนอกตลอดเวลา ภายในเวลา 20-30 นาที อากาศในเครื่องบินจะได้รับการหมุนเวียนจนหมด

อากาศจากภายนอกเครื่องบินจะได้รับการกรองด้วยฟิลเตอร์กรองอากาศแบบ HEPA (High-Efficiency Particulate Air) ซึ่งเป็นฟิลเตอร์ที่มีความละเอียดสูงมากๆ รวมถึงระบบแอร์ในเครื่องบิน จะส่งลมมาจากด้านบนเหนือศีรษะของผู้โดยสาร แล้วดูดลมกลับเข้าไปที่ด้านล่าง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะถูกลมพัดกระจายไปทั่วเครื่องบิน

แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนยืนยันว่าฟิลเตอร์กรองอากาศ HEPA อาจไม่สามารถช่วยกรองเชื้อโควิด-19 ได้จริง เพราะเราคงหายใจเอาเชื้อโควิด-19 เข้าไปก่อนที่ฟิลเตอร์จะสามารถกรองเชื้อได้ทัน โดยเฉพาะในเครื่องบินที่ผู้โดยสารแต่ละคนนั่งอยู่ใกล้ๆ กัน และละอองสารคัดหลังอาจไม่ได้กระจายไปได้ในระยะ 1 เมตรเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ละอองสารคัดหลังอาจกระจายไปได้ไกลถึง 16 เมตรเลยทีเดียว

แต่นับว่ายังมีความโชคดีอยู่มาก ที่ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนแนะนำว่า ผู้โดยสารควรใส่หน้ากากอนามัยในขณะนั่งเครื่องบิน เมื่อไอหรือจามควรหันหน้าเข้าหาไหล่ของตัวเอง หรือใช้มือปิดปากทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ละอองสารคัดหลั่งจะกระจายไปทั่วบริเวณเครื่องบินได้

ที่มา – BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา