อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบวงเงิน 33,471.0050 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตามข้อกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท รวม 6,694,201 คน
พื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม
กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา (พื้นที่ 13 จังหวัดแรก)
นครราชสีมา, ระยอง, ราชบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ลพบุรี, เพชรบูรณ์, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, ตาก, อ่างทอง, นครนายก, สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
กลุ่มเป้าหมายรวม
6,694,201 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และมาตรา 40 จำนวน 5,258,030 คน
คุณสมบัติกลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะ A (Active) ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด) หรือ 3 สิงหาคม 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัด) กรณีเป็นผู้สมัครเพื่อขึ้นทะเบียนตนตามมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะรอชำระเงิน W (Wait) วันที่ 31 กรกฎาคม 2564
ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตร 33 หรือมาตรา 39 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องไม่เป็นข้าราชการหรือผู้รับบำนาญของกรมบัญชีกลาง
วิธีการจ่ายเงินเยียวยามาตรา 39, 40
จะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะผู้ที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน โดยจะเร่งตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามเป้า และโอนเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ ม.40 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดก่อนระยะเวลาที่กำหนด ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564
โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในพื้นที่ 10 จังหวัดต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และในพื้นที่ 19 จังหวัด ต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 และขยายระยะเวลาให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัดเพิ่มเติมอีก 1 เดือน
มาตรา 39* คือผู้ประกันตนที่สมัครใจที่จะส่งเงินสมทบต่อและใช้สิทธิกับประกันสังคม เมื่อออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้างทำงานมีนายจ้าง)
มาตรา 40* คือบุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 เรียกว่า ผู้ประกันตนโดยอิสระ
ที่มา – รัฐบาลไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา