กรณีศึกษา: ทำไมปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงทำให้เศรษฐกิจของ “เมือง” กับ “ชนบท” ยิ่งเหลื่อมล้ำ

ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์​” หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่บทความนี้ต้องการ “สื่อ” ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน

  • ในช่วง 1-2 ปีมานี้ “AI” เป็นหนึ่งในคำที่ถูกนำมาใช้กันอย่างเกลื่อนกลาดทั่วบ้านทั่วเมือง จนถึงที่สุดแล้ว ทำให้ความหมายของ AI มีทั้งความหลากหลายและคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ต้องการสื่ออยู่บ่อยครั้ง
  • AI หรือปัญญาประดิษฐ์สามารถหมายถึงได้ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือถ้าอ่านนิยายวิทยาศาสตร์มากหน่อยก็อาจจะหมายถึงเครื่องจักรกลทำลายล้างโลก

อย่างไรก็ตาม คำว่า “AI” ที่ใช้ในบทความนี้ จะหมายถึงเพียง​ “ระบบอัตโนมัติ” เท่านั้น 

AI artificial intelligence ปัญญาประดิษฐ์
Photo: Shutterstock

กรณีศึกษา: เทคโนโลยีกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

การมาของเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้น เพราะเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก ไม่มีข้อยกเว้น

แต่สิ่งที่เทคโนโลยีทำให้หลายคน (รวมถึงหลายรัฐบาล) กังวลใจ คือการมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง AI อาจทำให้คนตกงาน เพราะงานหลายงานในปัจจุบัน หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้เกือบ 100% แล้ว เช่น งานเคลื่อนย้ายสิ่งของในโรงงาน

ล่าสุดงานศึกษาของ Brookings สถาบันวิจัยในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า AI จะทำให้เศรษฐกิจระหว่าง “เมือง” กับ “ชนบท” ยิ่งเหลื่อมล้ำไปมากกว่าเดิม

  • คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ เพราะ AI ในทุกวันนี้ที่มาถึงและเป็นจริงแล้วคือ AI ที่สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ ดังนั้นงานประเภทที่ทำซ้ำๆ ใช้เพียงกำลังแรงงาน ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถแทนที่ด้วย AI ได้ทั้งหมด เช่น งานในโรงงาน หรืองานบริการบางชนิด เป็นต้นว่า งานโรงแรมที่อาจไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่รับเช็คอิน แต่ให้ลูกค้าเช็คอินผ่านระบบอัตโนมัติอย่างเทคโนโลยีจดจำใบหน้า หรือสแกนผ่านแอพพลิเคชั่น

ทีนี้ กลับไปที่คำถามหลักของบทความที่ถามว่า ทำไม AI จึงทำให้เศรษฐกิจของ “เมือง” กับ “ชนบท” เหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น คำตอบก็คือ ถ้าเทียบลักษณะงานของเมืองกับชนบทในหลายๆ ที่ทั่วโลก จะเห็นได้ชัดว่า งานในเมืองมักจะเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าในชนบท โดยงานในชนบทมักจะเป็นงานชนิดที่ทำซ้ำๆ ได้ และแน่นอน AI สามารถมาทดแทนสิ่งนี้ได้ ดังนั้นคนในบทชนจึงมีโอกาสตกงานจาก AI มากกว่าคนในเมือง

ตัวอย่าง: หุ่นยนต์ทำอาหาร
ตัวอย่าง: หุ่นยนต์ทำอาหาร

ในงานวิจัยศึกษาในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยได้ข้อสรุปว่า

  • คนที่อยู่ในชนบท (ศัพท์ทางสังคมการเมืองของสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Heartland States หมายถึง กลุ่มรัฐที่อยู่ตรงส่วนกลางของประเทศ โดยผู้คนมักจะทำงานใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) มักจะมีการศึกษาไม่สูง และทำงานในภาคการผลิตหรือบริการ จะได้รับผลกระทบจาก AI และระบบอัตโนมัติมากที่สุด
  • ต่างกับลักษณะงานในเมืองอย่างบอสตันหรือวอชิงตันที่ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องการแรงงานทักษะสูงกว่า และจะได้รับผลกระทบน้อยจากการ disrupt ของ AI

โดยสรุปคือ จากงานวิจัยที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า งานส่วนใหญ่ในชนบทเป็นงานที่ใช้วิธีทำแบบซ้ำๆ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าเมื่อ AI มา แรงงานคนในชนบทย่อมตกงานสูงกว่าแรงงานในเมืองที่โดยลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ความสร้างสรรค์มากกว่า และทั้งหมดนี้คือที่มาของการตอบคำถามว่า เหตุใดปัญญาประดิษฐ์จึงทำให้เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำมากกว่าที่เป็นอยู่เสียอีก

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยเสนอหนึ่งในทางออกสำคัญของการช่วยเหลือแรงงานที่อาจถูกแย่งงานหรือตกงาน โดยเสนอว่า “ภาครัฐ” ต้องมีการวางกลยุทธ์ให้การศึกษาเพื่อพัฒนาให้แรงงานมีทักษะสูงและเอาชนะหุ่นยนต์อัตโนมัติได้ เช่น ทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรืองานอื่นใดที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ เป็นต้น และถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว การส่งเสริมให้แรงงานในยุคนี้เตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง น่าจะถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคศตวรรษที่ 21

ข้อมูล – Fortune, Artificial Intelligence

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา