อนาคตการเกษตรไทย ต้องใช้เทคโนโลยี ลดแรงงานคน แต่ปัญหาคือต้นทุนยังสูง เข้าถึงไม่ได้

Agriculture
Photo: Shutterstock

Agritech คือคำตอบของการเกษตรในโลกอนาคต

บทวิเคราะห์อีไอซี วิเคราะห์ว่า การนำ Agritech (การเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน) จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม

ปัจจุบันรูปแบบของ Agritech มีหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูก เช่น

  • เครื่องจักรกลและระบบการเพาะปลูกอัตโนมัติ
  • โดรนที่ใช้ในการเกษตร
  • ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านการตลาด ได้แก่ การซื้อขายสินค้า จัดหาวัตถุดิบ เช่าซื้ออุปกรณ์การเกษตรทางออนไลน์

ดังนั้น การนำ Agritech มาช่วยทำการเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งทำให้การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก แรงงาน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม

ปัจจุบันหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยได้มีการนำ Agritech เข้ามาช่วยทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการใช้ Agrobot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์จับภาพ เพื่อตรวจหาและจำแนกขนาดผลผลิตการเกษตรว่าพร้อมเก็บเกี่ยวหรือไม่ โดยใช้แขนกลเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงมีหุ่นยนต์กำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุน Agritech ทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ 6,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 44% จากปี 2017 โดย Agritech กลุ่มที่มูลค่าการลงทุนสูง และขยายตัวอย่างโดดเด่น ได้แก่ เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม ซอฟท์แวร์บริหารจัดการฟาร์ม อุปกรณ์ตรวจจับ และ IoT

ส่วน The Goldman Sachs Group คาดว่ามูลค่าตลาด Agritech ในปี 2050 ว่าจะอยู่ที่ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าตลาด Agritech ด้านการใช้ปุ๋ย 27% ด้านการเพาะปลูก 19% ด้านการใช้รถแทรกเตอร์ 19% ด้านการใช้น้ำ 15% ด้านการฉีดพ่นสารเคมี 6% และ Agritech ด้านอื่น ๆ เช่น การติดตามพื้นที่เพาะปลูก การบริหารจัดการข้อมูล รวมกันอีก 14% โดย Agritech แต่ละด้านดังกล่าว จะสามารถช่วยให้การทำการเกษตรในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรได้

ปัญหาหลักคือต้นทุนสูง เข้าถึงไม่ได้

สำหรับในไทย แม้ว่าจะเริ่มมีการนำ Agritech มาช่วยทำการเกษตรบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย ปัญหาใหญ่คือ ต้นทุนที่สูง เกษตรกรเข้าถึงไม่ได้ในวงกว้าง

ในปัจจุบันแม้ว่า เราเริ่มเห็นเกษตรกรไทยนำ “โดรนที่ใช้ในการเกษตร” มาใช้ในการหว่านเมล็ดพืช พ่นปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช รวมถึงสำรวจพื้นที่การเกษตรมากขึ้น ประกอบกับมีผู้ประกอบการไทยที่สามารถผลิตและจำหน่ายโดรนที่ใช้ในการเกษตรในระดับราคาขั้นต่ำที่ราวเครื่องละ 200,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นระดับราคาที่ถูกลงกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก

แต่หากดูในแง่ความคุ้มทุน โดรนที่ใช้ในการเกษตรยังไม่ถูกนำมาใช้ช่วยทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย เนื่องจากระดับราคาดังกล่าวยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนโดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยซึ่งครอบครองที่ดินขนาดเล็ก ประกอบกับราคาผลผลิตการเกษตรส่วนใหญ่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังทรงตัวในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรลงทุนซื้อโดรนที่ใช้ในการเกษตรเพิ่มเติม 

หนึ่งในทางออก นอกจากรอพึ่งภาครัฐ คือร่วมมือกับสตาร์ทอัพสายเกษตร

บทวิเคราะห์อีไอซี เสนอว่า ในระยะต่อไป ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทางการเกษตรอาจสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้าน Agritech เพื่อยกระดับไปสู่การพัฒนา Agritech ขั้นสูง

ยกตัวอย่างเช่นร่วมมือกันพัฒนา จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic nose) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดและจำแนกกลิ่นสินค้าเกษตร เทคโนโลยีเรดาร์ เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ การพยากรณ์โรคและสุขภาพพืช ระบบควบคุมน้ำ สภาพดิน อุณหภูมิ และความชื้นผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อขยายการประกอบธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตร ไปสู่การเป็น Solution provider ตอบโจทย์เทรนด์ Smart farming ทั่วโลก และกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากการขายเครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นหลัก

ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพชาวไทยซึ่งร่วมมือกับชาวต่างชาติพัฒนา Agritech ขั้นสูงดังกล่าวอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น Ricult ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มประเมินความเสี่ยงด้านสินเชื่อให้เกษตรกรรายย่อย โดยทำนายผลผลิตการเกษตรและคาดการณ์รายได้ เพื่อนำมาคำนวณ Credit score สำหรับการพิจารณาสินเชื่อแก่เกษตรกรรายย่อย โดย Ricult เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรและผู้ให้สินเชื่อ เช่น ธนาคาร ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยี Machine learning และภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยวิเคราะห์การเพาะปลูกพืช สารอาหารหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ในดิน รวมถึงคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Agritech ด้านการตลาดอย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายผลผลิตการเกษตร ทั้งในรูปแบบ B2C และ B2B ที่ยังต้องการการพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในวงกว้างต่อไป

ที่มา – บทวิเคราะห์อีไอซี แนะยกระดับภาคเกษตรไทยด้วย Agritech

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา