ไทย ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ แต่ปัญหาใหญ่ รายได้น้อย เงินออมไม่พอ ยืดเวลาเกษียณ

  • ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 
  • อีก 9 ปีถัดไปจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (HyperAged Society) ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น
  • 80% ของประชากรสูงอายุ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีระดับกลางลงล่าง
  • แต่ค่าใช้จ่ายจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งประเด็นปลายเปิดอยู่ที่ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วย
  • สุดท้าย เราอาจต้องเตรียมทำงานนานขึ้น…หากออมไม่พอใช้

aging soceity

ไทย…กับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอดในอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2564 เรียกได้ว่า ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society) หรือมีสัดส่วนจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 7% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยในปี 2564 ประชากรไทยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 12.8% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด มากเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น 

ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 เป็นอย่างเร็ว

เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ของประชากร 1,000 คน หรือมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี ตามการแต่งงานที่ช้าและความไม่ต้องการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จำนวนการเกิดก็เริ่มมีอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงแล้ว หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากจำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว ไทยน่าจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเข้าหา 20% โดยใช้เวลาเพียง 9 ปีหลังการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปี 

อ่านประกอบ

คนญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุเยอะ

ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่ไม่รวย ขณะที่ ค่าครองชีพเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 5%

ท่ามกลางสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์และแบบสุดยอด ประกอบกับภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในกรอบ 2.5-4.0% ต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จำนวนประชากรสูงอายุไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางขึ้นบน น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของจำนวนประชากรสูงอายุทั้งหมด

ส่วนประชากรสูงอายุอีกกว่า 80% อาจมีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางลงล่าง ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรืออาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน สาเหตุจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายและความเจ็บป่วยจากโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-Communicable Diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในบางคน ก็อาจเจ็บป่วยหลายๆ โรคพร้อมกันด้วย 

อัตราการพึ่งพาของผู้สูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน 100 คน 2015 2025 2035 2045
ไทย 14 22 31 38
ญี่ปุ่น 43 50 57 67
สิงคโปร์ 16 29 46 55
มาเลเซีย 9 13 18 21
อินโดนีเซีย 9 12 19 26
ฟิลิปปินส์ 6 9 12 15
บรูไน 6 11 17 24
กัมพูชา 7 9 12 13
สปป.ลาว 6 8 11 15
เมียนมา 8 12 17 23
เวียดนาม 9 14 22 31

ที่มา: UN (ข้อมูลปี 2018) รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากการประเมินมิติด้านจำนวน รายได้และค่าใช้จ่ายข้างต้น ไม่เพียงสะท้อนว่า ในที่สุดแล้วอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ต่อประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) 100 คนของไทย จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยขยับเข้าหาระดับ 30 สำหรับการเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด เทียบกับที่อยู่ที่ระดับใกล้ 20 ในช่วงของการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ และหากเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนที่ยังมีระดับที่ต่ำกว่าไทยอยู่มาก ก็นับว่าเป็นแรงกดดันพอสมควรสำหรับเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย

หมายความว่า ครอบครัวลูกหลานหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุอาจเผชิญความท้าทายด้านกำลังซื้อที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกรณีผู้สูงอายุบางส่วนที่อาจจะไม่มีครอบครัวลูกหลานหรือผู้ดูแล ก็คงจำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการหรืองบประมาณของภาครัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้สามารถดำรงชีพได้ จึงอาจกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอื่นๆ 

aging soceity
ภาพจาก Shutterstock

ถ้าไม่ทำงานนานขึ้น…ก็ต้องเก็บออมล่วงหน้าให้พอ

เป็นไปได้ว่าหลังจากนี้อายุการทำงานของประชากรไทยอาจมีแนวโน้มที่จะมากกว่า 65 ปี เพราะจำเป็นที่จะต้องมีรายได้มากพอสำหรับการยังชีพหลังเกษียณ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อวิวัฒนาการและเทคโนโลยีอาจทำให้อายุขัยของคนยาวนานขึ้นกว่าอดีต เพียงแต่ว่า การที่จะหางานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงเมื่อเวลาผ่านไป คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยเช่นกัน

หากมองแล้วว่าการหางานในวันเกษียณคงยาก…สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้คือสะสมเงินออมให้เพียงพอ ซึ่งแต่ละเดือนจะต้องเตรียมมากน้อยแค่ไหนสำหรับแต่ละคนนั้น ก็ขึ้นกับว่าเราอยากใช้ชีวิตสุขสบายเพียงใด โดยขั้นต่ำที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ที่ 350,000 บาทต่อคนต่อปี ทอนมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประมาณ 29,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่มากนักสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง

หากต้องการความมั่นคงและการใช้ชีวิตที่สุขสบายเพิ่มขึ้น อาทิ รองรับค่าใช้จ่ายด้านความเจ็บป่วยโรคร้ายแรง (กรณีที่ไม่ได้มีสวัสดิการอื่นๆ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้) ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทาง ทานข้าวนอกบ้านได้บ่อยๆ รวมถึงมีการท่องเที่ยวตามที่ต้องการนั้น คงต้องจบลงด้วยการเพิ่มเงินออมล่วงหน้า ขณะที่อย่าลืมว่า…การเก็บสะสมเงินออมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง (แต่ยังปลอดภัยเงินต้น) ก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา