เปิดมุมมองธุรกิจการตลาดผู้สูงอายุ งานวิจัยเผยเป็นทั้งโอกาสอันมหาศาล และความเสี่ยงครั้งใหญ่

เป็นที่คาดการณ์ว่าระหว่างปี 1980 – 2050 (พ.ศ. 2523 – 2593) จำนวนผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย หนึ่งเท่าตัว โดยในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โลกจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 2.1 พันล้านคน

ภาพจาก : Shutterstock

ในอีกราว 30 ปีต่อจากนี้ จะเป็นครั้งแรกที่โลกมีจำนวนคนแก่มากกว่าคนหนุ่มสาว โดย 1 ใน 5 ของประชากรโลกในปี 2050(พ.ศ. 2593) จะเป็นผู้สูงวัย สร้างปรากฏการณ์ใหม่นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลก

อิปซอสส์ เผยรายงานผลวิจัยชุดล่าสุด “Getting Older–Our Aging world” เพื่อเปลี่ยนมุมมอง สร้างความเข้าใจสังคมผู้สูงวัยให้กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจรับโอกาสอันมหาศาลและความเสี่ยงถาโถม

เปิดมุมมองให้ผู้สูงอายุใหม่

คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงวัย โดย 79% ของนักการตลาดยังใช้ ‘อายุ’ เป็นตัวชี้วัด
คนทั่วไปรวมถึงภาครัฐและเอกชนยังคงมีมุมมองต่อผู้สูงวัยแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็น การที่คิดว่าผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ ไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ

รวมถึงมองผู้สูงวัยและกำหนดตัวตนของผู้สูงวัยจาก “เลขอายุ” ไม่ใช่จากความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง ในประเทศฝรั่งเศสคนแก่ถึง 82% ชี้ว่าธุรกิจค้าปลีกหลากหลายแบรนด์ไม่เข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการอีกต่อไป

คำว่า “แก่” ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ

ความหมาย “60” ไม่ได้แปลว่าแก่ การใช้อายุเป็นเกณฑ์อาจจะทำให้ความเข้าใจต่อผู้สูงวัยคลาดเคลื่อน ซึ่งผลพวงจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้คนมีความเชื่อว่า 60 คืออายุที่แปลว่า “แก่”

อย่างไรก็ตาม ‘อายุเป็นเพียงตัวเลข’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนบนโลกยุคปัจจุบันมองว่า ผู้สูงวัยจะเริ่มต้นที่อายุ 66 ปีโดยเฉลี่ย ไม่ใช่ 60 อย่างที่เข้าใจกัน ในประเทศสเปนมองว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 70 ในขณะที่คนซาอุดิอาระเบียชี้ 49 ก็แก่แล้ว

สำหรับประเทศไทย ยังมองว่า 60 เป็นอายุเริ่มต้นของผู้สูงวัยซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ ถึงแม้คนบนโลกจะมองอายุกับคำว่าสูงวัยต่างกัน ผู้สูงอายุบนโลกกลับเห็นด้วยว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาจะรู้สึกเด็กกว่าอายุจริงถึง 9 ปี ทำให้ ‘ตัวเลข’ ไม่ใช่มาตรวัดที่แม่นยำอีกต่อไป

เตือนอย่ามองผู้สูงวัยจาก ‘ตัวเลขอายุ’

ผู้สูงวัยไทยกว่า 75% มีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คนสูงวัยจำนวนมากได้เข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน หาข้อมูล พูดคุย และสั่งสื่อสินค้าผ่านโลกออนไลน์

  • ผู้สูงวัยในอังกฤษ 43% สั่งซื้อสินค้าออนไลน์และกลายเป็นกิจกรรมหลักของผู้สูงวัยในประเทศนั้น 
  • ผู้สูงวัยในแคนนาดา 84 % ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ
  • ผู้สูงวัยในประเทศไทยกว่า 1.2 ล้านของที่มีอายุเกิน 60 ปี เข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ต
  • ผู้สูงวัยในเปรู ครึ่งหนึ่งของต้องการออกไปท่องเที่ยว 40% ต้องการเริ่มธุรกิจของตัวเอง
  • ผู้สูงวัยทั้งในประเทศไทยและฝรั่งเศสมากกว่า 3 ใน 4 ของ ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ 

ดังนั้นความเชื่อที่ว่าผู้สูงวัยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป

แบงค์พัน
ภาพโดย : Peter Hellberg from Stockholm, Sweden (Thai baht) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

โอกาสตลาดผู้สูงวัยมีอำนาจการทางเงิน

จับตาตลาดผู้สูงวัยได้เพิ่มความซับซ้อนและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • ในอังกฤษเม็ดเงิน 3 แสน 2 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็น 47% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ
  • ในฝรั่งเศสผู้สูงวัยมีเงินที่เตรียมไว้ใช้ท่องเที่ยวถึง 2 หมื่น 2 พันล้านยูโร ในญี่ปุ่นเองผู้สูงอายุยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 1.439 พันล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็น 80%ของตลาดการเงินทั้งหมด
  • ในปี 2032 (พ.ศ. 2575) ที่อเมริกา เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy) หรือก็คือมูลค่าตลาดที่รวมทั้งสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยนั้นจะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่าทุกภาคส่วนของตลาดอื่นรวมกัน
  • นไทยเองผู้สูงอายุถึง 95% พร้อมใช้จ่ายสำหรับอาหาร และ 73% พร้อมใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าสำหรับตัวเอง

อิทธิพลของผู้สูงวัยในโลกการเมือง

ผู้สูงวัยมักจะเป็นกลุ่มคนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากกว่ากลุ่มเด็กหรือกลุ่มวัยรุ่นทำให้อิทธิพลของผู้สูงวัยในเวทีการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ปัจจุบัน 3 ใน 10 ของประชากรโลกมองว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากเกินควร
  • 1 ใน 3ของคนไทยซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างชัดเจนเห็นด้วยว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมาก

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มคนแต่ละช่วงอายุ รัฐบาลควรจะใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงวัยมากกว่าการลงทุนกับอนาคตของเด็กในชาติหรือไม่?

ผลวิจัยความกังวลของผู้สูงอายุ

ผู้สูงวัยมีความกังวลเป็นพิเศษใน 2 เรื่องหลัก คือเรื่องการเงิน และสุขภาพ  คือ 79% ของคนไทยวางแผนที่จะทำงานต่อหลังอายุเกษียณเพราะกลัวว่าจะมีเงินไม่พอในช่วงวัยชรา ซึ่งสูงกว่า 41% ในประเทศแคนนาดาที่มีสวัสดิการจากรัฐที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขตรงนี้เพิ่มสูงกว่าแต่ก่อนที่ผู้สูงวัยมักจะติดสินใจพักผ่อนหลังอายุเกษียณที่ 60 ปี นอกจากนั้นในขณะที่ในด้านหนึ่งกลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่มีเงินและกำลังซื้อสูงกว่าในหลายกลุ่มอายุ แต่ในขณะเดียวกันมีจำนวนผู้สูงวัยจำนวนมากที่เข้าข่าย “ยิ่งแก่ ยิ่งจน” ซึ่งสังคมผู้สูงวัยจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทวีคูณขึ้นในอนาคตอันใกล้

อิปซอสส์ชี้สังคม ภาคธุรกิจ และรัฐบาลต้องปรับตัว

  • ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 11 ล้านคน และมีคนแก่จำนวนมากที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง
  • ประเทศจีนและอังกฤษ 1 ใน 3ของครัวเรือนทั้งหมด คือ คนสูงวัยที่อาศัยอยู่ด้วยตัวคนเดียว
  • ความเชื่อและค่านิยมที่เปลี่ยนไปทำให้มีเพียง 57% ของประชากรโลกที่มองว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของญาติและลูกหลาน
  • ปัญหาเรื่องรายได้และมุมมองที่ผิดต่อประกันยังทำให้มีเพียง 50% ของผู้สูงวัยในประเทศไทยมีประกันสุขภาพ

สรุป : สังคมผู้สูงวัยจะนำมาซึ่งโอกาสอันมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับคลื่นความเสี่ยงที่จะถาโถมมาอย่างไม่หยุดยั้ง ความเข้าใจอย่างสุดซึ้งและการเตรียมพร้อมอย่างเคร่งครัดเท่านั้นที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา