ขนมปังเนยโสด แป้งแพนเค้ก เดลิเวอรีเมนูอื่น ๆ ก็ช่วย After You โตในวิกฤต COVID-19 ไม่ได้

After You เป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่ปรับตัวหลายกระบวนท่าในวิกฤต COVID-19 ทั้งขายเมนูปรุงสำเร็จ, ขายวัตถุดิบ และเดินหน้าเดลิเวอรีเมนูดังต่อเนื่อง แต่สุดท้ายรายได้ในปี 2020 กลับลดลงถึง 426 ล้านบาท

after you

รายได้จากหน้าร้านคิดเป็น 91%

จากรายงานประจำปี 2020 ของ After You ชี้ให้เห็นว่า After You แบ่งการทำธุรกิจเป็น 4 หน่วยคือ Dessert Cafe หรือหน้าร้าน, Non-Cafe หรือช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หน้าร้าน, Catering/Pop-Up หรือการออกงาน กับหน้าร้านขนาดเล็ก และ Franchise Fee หรือการขายเฟรนไชส์

แต่ด้วย After You เริ่มต้นจากการขายหน้าร้าน และธุรกิจอื่น ๆ เพิ่งทำได้ไม่นาน ทำให้บริษัทฝากความหวังทั้งหมดไว้กับหน้าร้าน และไม่แปลกที่รายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดของ After You ในปี 2020 จะมาจากหน้าร้านถึง 91% ซึ่งก็ยังดีที่สัดส่วนนี้ลดลงจาก 96% และ 93% ในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ

after you

after you

อย่างไรก็ตามการยังฝากความหวังไว้มากขนาดนี้ก็คงไม่ดีแน่ เพราะหากเกิดวิกฤตไม่คาดฝัน เช่นการระบาดของโรค COVID-19 จนรัฐบาลต้องสั่งห้ามรับประทานอาหารภายในร้าน After You ก็คงมีรายได้หดตัวอย่างแรงอีก เพราะถ้าดูตามรายงานจะเห็นว่า ปี 2019 After You มีรายได้เติบโต 37% ส่วนปี 2020 รายได้กลับลดลง 36%

เดลิเวอรีคือฟันเฟืองสำคัญของรายได้

After You ระบุรายได้จากการเดลิเวอรีไว้ใน Dessert Cafe ซึ่งในรายได้ 700 ล้านบาทจากธุรกิจนี้มาจากการรับประทานในร้าน 57% ส่วนที่เหลือ 43% จะมาจากการซื้อกลับบ้าน กับเดลิเวอรี เรียกว่าช่องทางหลังคือฟันเฟืองสำคัญก็ได้ เพราะถ้า After You ไม่เร่งเครื่องฝั่งนี้ โอกาสที่รายได้จากหน้าร้านจะหายไปมากกว่านี้ก็มีสูง

after you

ในทางกลับกันรายได้ 21 ล้านบาทจาก Non-Cafe ที่ประกอบด้วยธุรกิจการขายออนไลน์ และ OEM หรือการรับทำของหวานให้กับสายการบิน Air Asia และ Starbucks กลับหดตัวอย่างหนักถึง 54% เพราะสายการบิน และร้านอาหารต่างล่มสลายในวิกฤต COVID-19 การเร่งขายช่องทางออนไลน์คงรองรับรายได้ที่หายไปไม่ไหว

อย่างไรก็ตามยังมีอีก 2 ธุรกิจที่เติบโตของ After You โดย Catering/Pop-Up ทำรายได้ 44 ล้านบาท เติบโต 22% เพราะเร่งขยายหน้าร้านขนาดเล็ก อีกธุรกิจคือ Franchise Fee ที่เติบโต 200% จากเฟรนไชส์ในฮ่องกง และการเร่งขยายหน้าร้านกาแฟ Mikka จนมี 43 สาขา แบ่งเป็นบริหารเอง 30% และขายเฟรนไชส์ 70%

after you

พัฒนาหน้าร้านให้เป็นมากกว่าหน้าร้าน

เมื่อหน้าร้านยังสำคัญมากสำหรับ After You การสร้างประโยชน์ให้ได้มากเท่าที่จะมากได้จึงจำเป็น และนั่นคือที่มาของ After You Market Place ที่นำบางพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งานในร้าน เช่นพื้นที่ว่างจากการจัดโต๊ะแบบ Social Distancing มาตั้งชั้นเพื่อจำหน่ายวัตถุดิบ, อาหารแห้ง และขนมเพื่อสุขภาพ ช่วยสร้างรายได้จากหน้าร้านได้มากขึ้น

เพราะหากตัวหน้าร้านยังเปิดให้รับประทานได้ ตัวชั้นนี้จะจูงใจลูกค้าที่ต่อคิวให้มาลองเลือกซื้อก่อน หรือหากนั่งรับประทานในร้านไม่ได้ ตัวชั้นนี้ก็สามารถจำหน่ายสินค้าแบบ Take-Away ได้ทันทีเช่นกัน ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากหน้าร้านที่น่าสนใจ

after you

นอกจากนี้ After You มีการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ, พัฒนาสินค้าใหม่ และปิดบางสาขาที่มีขนาดเล็ก โดยมาใช้สาขาขนาดใหญ่ที่พื้นที่ใกล้เคียงแทน เพื่อรุกตลาดเดลิเวอรีได้เต็มที่ จนกำไรสุทธิในปี 2020 ปิดที่ 55 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้านี้ 77% แต่ยังคิดเป็นสัดส่วน 7.1% ของรายได้รวม ลดลงจาก 19.7% ในปีก่อนไม่มากนัก

ต่อยอดแผนทั้งหมดในไตรมาส 1 2021

ที่สุดแล้วเมื่อผ่านพ้นปี 2020 และสิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2021 ทาง After You ยังพยายามต่อยอดกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเน้นเดลิเวอรีที่ประคองยอดขายเป็นสัดส่วน 43% ของยอดขายหน้าร้าน และการขยาย After You Marketplace เป็น 14 สาขา จากทั้งหมด 42 สาขา

after you

การพัฒนาสินค้าใหม่ถึง 17 รายการที่เหมาะสมกับการจำหน่ายแบบ Take-Away และเดลิเวอรีได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงนำเมนูฮิตมาออกแบบใหม่ เช่นคากิโกริแตงไทยอะโวคาโด กับชีสพายมะยงชิด เป็นต้น รวมถึงการออกร้านตามงานอีเวนท์ต่าง ๆ และการสร้าง Pop-up Store เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นด้วยเมนูปรุงสดที่ใช้ขั้นตอนไม่มาก

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ไตรมาส 1 ของปี 2021 ทาง After You ปิดรายได้ที่ 179 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2020 และลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2020 ที่ 14% แม้จะยังไม่กลับมาเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ถือเป็นการปรับตัวของ After You ที่พยายามคงรายได้เอาไว้ และสร้างสรรค์ช่องทางใหม่ ๆ ให้ได้

after you

สรุป

After You พยายามพัฒนาหน้าร้านแบบใหม่ เมนูใหม่ และการตลาดแบบใหม่ แต่ทั้งหมดนี้ก็ทำได้แค่ประคองยอดขายไม่ให้ตกลงหนักกว่านี้ ซึ่งก็คงต้องดูในอนาคตว่าสถานการณ์ COVID-19 ในไทยจะทุเลาหรือไม่ เพราะถ้ายังระบาดหนักอยู่ ธุรกิจร้านอาหารก็คงต้องหากระบวนท่าอื่น ๆ มาแก้ และยอดขายคงเติบโตเหมือนเดิมได้ยาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา