สูตรคนมั่งคั่งเอเชียแปซิฟิก “ยิ่งเรียน ยิ่งรวย” สวนทางอเมริกัน เรียนทำไมไม่คุ้มค่า

คนที่จัดว่ามีในฐานะมั่งคั่งในเอเชียแปซิฟิกนั้นกว่า 87% มีการศึกษาอย่างน้อยในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า สะท้อนถึงทัศนคติของคนเอเชียแปซิฟิกมองว่ายิ่งเรียนสูง หน้าที่การงานดี ยิ่งสร้างฐานะให้ดียิ่งขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

จากสถิติมั่งคั่งเอเชียแปซิฟิก ที่มีรายได้ครัวเรือนต่อเดือน 1.6 แสนบาท และคนมั่งคั่งที่ไทยมีรายได้ครัวเรือน 1.4 แสนบาทต่อเดือน นั้นกว่า 87% ของกลุ่มดังกล่าวนี้จะมีการศึกษาอย่างต่ำในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า

ทัศนคติของคนเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งคนไทยที่มีฐานะมั่งคั่ง มองว่าต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ยิ่งรวยยิ่งต้องเรียน เพราะจะช่วยสร้างโอกาสให้รวยยิ่งขึ้น แต่พฤติกรรมดังกล่าวกับสวนทางกับคนอเมริกันมองว่าการลงทุนกับการศึกษาอาจจะไม่คุ้มค่าในยุคนี้

สำหรับชาวอเมริกัน มีทัศนคติต่อการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยมองว่ายังมีความจำเป็นต้องเรียนอีกหรือไม่ เพราะหากจะเรียนต้องใช้ระยะเวลา 4 ปีกว่าจะจบการศึกษา

โดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนำมาประกอบอาชีพ ก็อาจไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนเร็ว

ภาพจาก Shutterstock

ผู้ชายหรือผู้หญิงใครรวยกว่ากัน

  • ยุโรป ผู้ชายที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 60% ส่วนผู้หญิงที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 40%  (รายได้โดยเฉลี่ย 1,888,852 บาทต่อปี)
  • เอเชียแปซิฟิก ผู้ชายที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 49% ส่วนผู้หญิงที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 51%  (รายได้โดยเฉลี่ย 1,190,370 บาทต่อปี)
  • อเมริกา ผู้ชายที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 52% ส่วนผู้หญิงที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 48%  (รายได้โดยเฉลี่ย 5,157,522 บาทต่อปี)
  • ประเทศไทย ผู้ชายที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 42% ส่วนผู้หญิงที่มีฐานะรวยมีสัดส่วน 58%  (รายได้โดยเฉลี่ย 778,334 บาทต่อปี)

ปัจจัยที่ผู้หญิงไทยรวยกว่าผู้ชาย มาจากตำแหน่งของผู้หญิงในตอนนี้ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ หรือหัวหน้าแผนกต่างๆ ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ประชากรไทยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งพบว่าประชากรหญิงในแต่ละประเทศมีมากกว่าประชากรชายอยู่แล้ว ยกเว้นประเทศจีนที่มีประชากรชายมากกว่าหญิง

สรุป

การศึกษายังเป็นสิ่งที่คนเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะคนรวย มองว่ายิ่งเรียนยิ่งรวย ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมของคนเอเชียแปซิฟิกที่มองว่า การศึกษาที่ดีช่วยเสริมตำแหน่งหน้าที่การงานให้ดีขึ้น ยกตัวอย่าง ทายาทธุรกิจไทยหลายคนที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ ส่วนใหญ่ในตอนนี้ศึกษาครอสสั้นๆ เกี่ยวกับการดิสรัปชั่นในต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ แตกต่างจากชาวอเมริกันที่มีมุมมองนอกกรอบ การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยไปก็ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว

ข้อมูล : ipsos

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา