เอคอมเมิร์ซ ยังคงแผน IPO เช่นเดิม รอสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้น ครองผู้นำตลาดผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ

บมจ. เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป คงแผน IPO เช่นเดิม แม้ยื่นไฟลิ่ตั้งแต่ปี 2021 ขอรอสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้น เสริมแกร่งตำแหน่งผู้นำผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรของอาเซียน ชี้เทรนด์ขายออนไลน์มุ่งสู่ไลฟ์คอมเมิร์ซ เตรียมพัฒนาโซลูชันวิเคราะห์การไลฟ์ให้มีประสิทธิภาพผ่าน AI เพิ่ม

acommerce
ภาพจาก เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป

เอคอมเมิร์ซ ยังคงแผน IPO

พอล ศรีวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า บริษัทยังมีแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านวิธี IPO เช่นเดิม แม้บริษัทจะเตรียมตัวมาตั้งแต่ปี 2020 และยื่นไฟลิ่งเมื่อปี 2021 เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในธุรกิจผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรของอาเซียน

“เรายังคงแผน IPO อยู่ และหลังจากนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว และตัวบริษัทยังตอบโจทย์นักลงทุนเช่นเดิม ผ่านความเป็นผู้นำของกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรในระดับอาเซียนที่มีแบรนด์สินค้าชั้นนำของโลกมากกว่า 170 แบรนด์ใช้บริการบริษัทเพื่อดูแลช่องทางออนไลน์”

เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป มีลูกค้าหลักเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่หลังจากนี้จะเริ่มเข้าไปทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SME มากขึ้น เพราะปัจจุบันการจับจ่ายผ่านดิจิทัลนั้นผ่านระบบอีคอมเมิร์ซถึง 70% การที่บริษัทมีระบบที่เชื่อมต่อกับมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ เช่น Lazada, Shopee และ TikTok จึงช่วยเหลือพวกเขาได้มากขึ้น

acommerce

ประยุกต์ AI เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

หากเจาะไปที่ เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จะพบว่า การเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรหมายถึงการบริหารจัดการระบบหน้าร้าน, คลังสินค้า, การพัฒนาการขายออนไลน์ให้ดีขึ้น จนไปถึงบริการหลังการขาย รวมถึง เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ยังมีบริการ Ecommerce IQ ที่ช่วยวิเคราะห์ตลาด และพัฒนาการขายในแต่ละมาร์เก็ตเพลสให้ดีขึ้น

ล่าสุด เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป ร่วมมือกับ Amazon Web Services หรือ AWS เพื่อนำโซลูชันด้าน AI มาช่วยยกระดับบริการการใช้งาน Ecommerce IQ ด้วย Ask IQ จากเดิมที่ผู้ใช้ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นเอง ก็จะ Prompt หรือใส่แนวการใช้ข้อมูลที่ต้องการลงไป และระบบจะประมวลผลข้อมูล พร้อมข้อความ และชาร์ตรูปแบบต่าง ๆ

“ข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ใน Ecommerce IQ เรา Claw มาจาก 3rd Party Data ทั้ง Lazada, Shopee และ Tokopedia เมื่อมาตรวจสอบร่วมกับ 1st Party Data จากลูกค้าที่ใช้บริการของเรา ก็ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้แม่นยำขึ้น และเราเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนที่ให้บริการในรูปแบบนี้”

acommerce

วิเคราะห์ข้อมูลเก่ง ไลฟ์คอมเมิร์ซได้คือเทรนด์ปีนี้

สำหรับเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซในปี 2024 จะเริ่มต้นด้วยเรื่องการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล และบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาไลฟ์คอมเมิร์ซให้เป็นอีกช่องทางสำคัญของแบรนด์ต่าง ๆ และหลังจากนี้จะมีโอกาสเพิ่มเป็น 20% ของมูลค่าการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งหมด จากปัจจุบันกินสัดส่วนราว 5% เท่านั้น

“เมื่อไลฟ์คอมเมิร์ซโต ก็ต้องมีการวิเคราะห์ไลฟ์คอมเมิร์ซให้ได้ ซึ่งเราพยายามทำระบบวิเคราะห์เรื่องนี้อยู่ เช่น การวิเคราะห์คำพูด, การโชว์สินค้า หรือกลยุทธ์การบอกราคา เพื่อให้เกิดการปิดการขายผ่านช่องทางไลฟ์คอมเมิร์ซที่มีประสิทธิภาพที่สุด”

ไลฟ์คอมเมิร์ซ ค่อนข้างยากในการเก็บข้อมูล เพราะต้องเก็บทุกอย่างในขณะที่มีการถ่ายทอดสดอยู่ เบื้องต้น เอคอมเมิร์ซใช้การตรวจจับข้อมูลจาก Closed Captioning หรือ CC ที่ระบบจะแสดงคำพูดต่าง ๆ ของผู้พูดในการถ่ายทอดสด เพื่อวิเคราะห์ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 บริษัทจะเชื่อมต่อระบบกับ TikTok เพื่อได้ข้อมูลมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา