เปิดกลยุทธ์ธุรกิจแนะแนวเรียนต่อในต่างประเทศปรับตัวอย่างไร ในวันที่เด็กไทยไปเมืองนอกไม่ได้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจหลายๆ ประเภท ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ในการจัดหานักเรียนนักศึกษาชาวไทย ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน

ภาพจาก Shutterstock

จากสถิติของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พบว่า ในปี 2560 มีนักเรียนนักศึกษาชาวไทยเดินทางไปเรียนต่อ และกำลังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศยอดนิยมเหล่านี้ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย 29,583 คน สหรัฐอเมริกา 11,557 คน สหราชอาณาจักร 7,300 คน และนิวซีแลนด์ 3,600 คน

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะประเทศที่คนไทยนิยมเลือกเดินทางไปเรียนต่อหลายๆ ประเทศ กำลังเผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรง และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคงหนีไม่พ้นตัวแทนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางพานักเรียนนักศึกษาชาวไทยไปเรียนต่อในต่างประเทศ เพราะแน่นอนว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่สามารถทำได้ เพราะบางประเทศก็ยังมีมาตรการควบคุมการเข้าออกอยู่ และยังมีประเด็นด้านความไม่สบายใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ไม่อยากพาลูกๆ ไปเสี่ยงอันตรายในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย

ภาพจาก Unsplash โดย Element5 Digital

โควิดกระทบธุรกิจส่งเด็กเรียนต่อนอก

นันทพร ธนวเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เดอะบริดจ์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เล่าถึงสถานการณ์ภาพรวมของธุรกิจพานักเรียนนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศว่า บริษัทมีลูกค้ากลุ่มหลักๆ คือคนที่ต้องการไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% รองลงมาคือระดับปริญญาตรี และปริญญาเอก ตามลำดับ

ในช่วงสถานการณ์ปกติมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจะเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนกันยายน คนที่สนใจก็จะสมัครเข้ามาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหลังเรียนจบพอดี และอีกช่วงที่คนสนใจสมัครเข้ามาคือเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของปีก่อนหน้า

จากสถิติในปีที่แล้วมีนักเรียนนักศึกษาเดือนทางไปเรียนต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 10% แต่พอเข้ามาในช่วงปีนี้ “สถานการณ์เหมือนกลับหัว คนที่วางแผนก็ไม่ไป พักไว้ก่อน คนสมัครเพิ่มก็แทบไม่มี” ส่วนนักเรียนที่ยืนยันการไปเรียนต่อต่างประเทศในปีนี้ก็ยังไม่มีเลยเช่นกัน ทำให้คาดเดาสถานการณ์เอาไว้ว่าหากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่แย่ที่สุด จะทำให้มีรายได้เป็นศูนย์

พอถามว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนตัดสินใจชะลอเรื่องการไปเรียนต่างประเทศในช่วงนี้ไปก่อน นันทพร เล่าว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องความกังวลของคนเป็นพ่อแม่ ซึ่งไม่ได้กังวลแค่การติดโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังกังวลด้วยว่าถ้าติดโรคขึ้นมาแล้วจริงๆ จะทำยังไง ใครจะดูแล จะเข้าโรงพยาบาลได้ไหม รวมถึงประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษา ซึ่งยังไม่รู้ว่าประกันที่ทำไว้จะครอบคลุมหรือไม่

ปรับตัวสู้โควิด ไม่ปลดพนักงาน สร้างความสบายใจให้ผู้เรียน

แม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบมากจนแทบไม่เหลือลูกค้าที่ยืนยันการไปเรียนต่อต่างประเทศในช่วงเดือนกันยายนนี้ แต่นันทพร ยืนยันว่าจะปรับตัวในรูปแบบอื่นๆ แต่จะยังไม่มีการปลดพนักงาน ซึ่งมีประมาณ 30 คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะการลดต้นทุนในด้านอื่นๆ เช่น การขอปรับลดเงินเดือนพนักงานลงชั่วคราว การลดงบประมาณด้านการตลาด ไม่ทำโฆษณาชั่วคราว

แต่จะพยายามเก็บพนักงานไว้ เพราะการทำธุรกิจส่งนักเรียนนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศเป็นเหมือนธุรกิจที่กระทบต่อขวัญกำลังใจของนักเรียนนักศึกษา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง อย่างน้อยนักเรียนสามารถคุยกับพนักงาน ได้รับคำปรึกษาก็จะเกิดความสบายใจมากขึ้น

ภาพจาก Unsplash โดย Wes Hicks

สอนออนไลน์ทางเลือกใหม่ที่น่าจับตามอง

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ก็เริ่มหาทางออกให้กับการเรียนการสอนในภาคเรียนถัดไปด้วยการเลือกเรียนแบบออนไลน์ ผสมกับการเรียนในห้องเรียนแล้วแต่จำนวนนักเรียนในคลาสนั้นๆ นันทพรเล่าว่า การเรียนแบบออนไลน์ผสมกับการเรียนในห้องเรียน ทำให้มีนักเรียนบางส่วนเริ่มสนใจที่จะเริ่มเรียนในปีการศึกษานี้แล้วเช่นกัน แม้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังคงรอดูสถานการณ์ต่อไป

หรือมหาวิทยาลัยบางแห่งเลือกที่จะเปิดภาคเรียนในเดือนมกราคมปีหน้า แต่ในระหว่างนี้จะมีการจัดกิจกรรมออนไลน์ให้เรียนก่อนแบบฟรีๆ เป็นการปูพื้นฐานให้ก่อนเปิดภาคเรียนจริง แต่อย่างไรก็ตาม นันทพรกล่าวเสริมว่า เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องให้ข้อมูลกับนักเรียนเพื่อตัดสินใจ รับความเสี่ยงให้ได้ จะได้เลือกตัดสินใจถูกว่าจะเลือกเรียนออนไลน์ในภาคเรียนนี้ หรือจะเลือกไปเริ่มเรียนในห้องเรียนเดือนมกราคมปีหน้า

มหาวิทยาลัยทั่วโลกปรับตัวรับมือสถานการณ์

ณัฐกุล กุลดิลก Operations Manager ของ Mentor International บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางพานักเรียนไปเรียนต่อในต่างประเทศมานานหลายสิบปี เล่าถึงสถานการณ์ในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยว่า พ่อแม่บางคนเลือกส่งลูกออกไปเรียนต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าในต่างประเทศมีสถานการณ์ที่ดีกว่าไทย

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้นในทั้งในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ณัฐกุลเล่าว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มมีความกังวลเรื่องการเหยียดคนเอเชียที่สวมใส่หน้ากากอนามัย กลัวว่าลูกจะไม่ปลอดภัย กลัวโดนเหยียด ซึ่งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ต้องอธิบายว่าการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ต่างกัน

นอกจากกังวลเรื่องการทำร้ายคนเอเชียที่ใส่หน้ากากอนามัยแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองยังกังวลว่า หากลูกป่วยเป็นโควิด-19 ที่ต่างประเทศแล้วจะทำอย่างไร เพราะหากป่วยเป็นโควิด-19 ที่ไทย ย่อมหาหมอเข้าโรงพยาบาล และได้รับการรักษาที่ง่ายกว่า คนที่กำลังจะตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศหลายคนจึงเลือกที่จะขอเงินคืน และจะเปลี่ยนเป็นการเรียนที่ประเทศไทยแทน

การเรียนออนไลน์ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจะส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาให้เรียนที่บ้าน ภาพจาก Shutterstock

ซึ่งหลายๆ มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ต่างมีมาตรการในการเปลี่ยนเป็นการสอนผ่านระบบออนไลน์แทน แต่ในช่วงแรกพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงนักเรียนก็ไม่ได้สนใจในการเรียนออนไลน์มากนัก เพราะคนไทยเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ คือการเปิดแอปพลิเคชัน Zoom ค้างไว้ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 4 โมงเย็นเหมือนที่โรงเรียนในไทยทำ

แต่ความจริงแล้ว ณัฐกุลเล่าให้ฟังว่า การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในต่างประเทศไปไกลกว่าไทยมาก มหาวิทยาลัยจะส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรียนออนไลน์ตามวิชาที่ลงทะเบียนไว้มาให้ที่บ้าน เช่น หากเรียนแพทย์ก็จะส่งโครงกระดูกจำลองมาให้ศึกษา หรือบางคนเรียนวิชา STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ก็จะส่งหุ่นยนต์พร้อมแผงโซล่าเซล์มาให้ฝึกประกอบหุนยนต์จริงที่บ้าน ไม่ใช่การดูผ่านทางหน้าจออย่างเดียว

มหาวิทยาลัยชื่อดัง ปรับกลยุทธ์ดึงดูดนักเรียนทั่วโลก

ณัฐกุล เล่าความแตกต่างของมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอังกฤษให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยดังๆ ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีนักเรียน แต่มหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องกู้เงินมาจากรัฐบาล ถ้าไม่มีนักเรียนก็จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนนักเรียนต่างชาติมาก ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมาก เพราะในช่วงนี้นักเรียนต่างชาติไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้เลย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหนักกับมหาวิทยาลัย กลายเป็นโอกาสสำหรับเด็กไทย ที่อยากเดินทางไปเรียนต่างประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบจะหาทางจูงใจให้คนจากประเทศต่างๆ เลือกมาเรียน ทั้งการลดค่าเทอมบางส่วน ตั้งแต่ 10-50% รวมถึงลดคุณสมบัติบางประการ เช่น เกรดเฉลี่ย และคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษเป็นต้น ดังนั้นนักเรียนที่สนใจอยากไปเรียนต่อต่างประเทศจริงๆ สามารถใช้โอกาสนี้ในการเข้าเรียนได้ เพราะคู่แข่งน้อยลง คุณสมบัติที่กำหนดก็ลดลงด้วย

แม้ว่าจะยังไม่สามารถเดินทางไปเรียนในเดือนกันยายนนี้ได้ แต่ก็สามารถยืนยันสิทธิ์ แล้วเลือกที่จะขอไปเรียนในเดือนมกราคม หรือรอเรียนในปีการศึกษาใหม่ช่วงเดือนกันยายนปี 2564 ก็ได้เช่นกัน ทำให้ในช่วงหลังเริ่มมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือนักเรียนบางคน เริ่มสนใจที่จะเรียนออนไลน์กับมหาวิทยาลัยตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ ทั้งการเรียนในประเทศไทย และการเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษเพื่อเรียนออนไลน์ก็ได้เช่นกัน

Webinar ทางเลือกใหม่ของ Agent ไทย

โดยปกติแล้วบริษัทที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศในการจัดหานักศึกษาไทยไปเรียน จะมีการจัดงานเกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างประเทศเป็นประจำ ซึ่งที่ Mentor International ณัฐกุลเล่าว่าได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยการจัดงานผ่านระบบออนไลน์แทน โดยเรียกว่างาน Webinar ซึ่งกลายเป็นว่า มีนักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ชอบ เพราะไม่ต้องเดินทาง รวมถึงมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าเวลาถาม-ตอบคำถาม ระหว่างอาจารย์กับผู้เรียน เพราะ Webinar จัดขึ้นในแอปพลิเคชัน Zoom ไม่ใช่ห้องประชุมในโรงแรมที่มีคนพลุกพล่าน

โควิด-19 โอกาสดีของคนอยากไปเรียนต่อ

สุพัตรา บุญส่ง ผู้ร่วมก่อตั้ง NZ Study (Thailand) ศูนย์แนะแนว ศึกษาต่อประเทศนิวซีแลนด์ ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 17 ปี เล่าว่า ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดแนวโน้มจำนวนนักเรียนที่สมัครเรียนต่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2018-2019 แต่พอโควิด-19 ระบาด มีการล็อคดาวน์ประเทศ ทำให้นักเรียนใหม่ที่จะสมัครเข้ามาลดลงกว่า 70% ส่วนคนสมัครไปแล้วก็เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน

แน่นอนว่าจำนวนนักเรียนที่ลดลงเพราะโควิด-19 ย่อมส่งผลต่อรายได้ที่เคยได้รับ ซึ่งสุพัตราเล่าว่า โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่กระทบกับรายได้อย่างมาก แต่นับว่ายังมีความโชคดีที่นักเรียนนักศึกษาที่เดินทางไปเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์แล้วกว่า 90% ยังคงอยู่ที่นั่นไม่ได้เดินทางกลับมา ดังนั้นบริษัทก็ยังมีรายได้จากนักเรียนที่อยู่ในนิวซีแลนด์อยู่แล้ว บวกกับการบริหารจัดการในองค์กรที่ดีทำให้ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้

Auckland New Zealand โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์
ประเทศนิวซีแลนด์ อีกหนึ่งประเทศยอดนิยมในการศึกษาต่อของคนไทย ภาพจาก Shutterstock

ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์ในประเทศนิวซีแลนด์ดีขึ้นมาก “นายกจัดการสถานการณ์โควิดได้ดี มีผู้ติดเชื้อเพียง 1,156 คน หากไม่นับผู้ป่วยที่เพิ่งกลับจากประเทศอังกฤษ ก็จะไม่มีผู้ป่วยในประเทศนานนับเดือนแล้ว” ส่วนสถานการณ์ในประเทศนิวซีแลนด์ล่าสุดสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ นักเรียนกลับมาเรียน ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้แล้ว ภายใต้การใช้ชีวิตแบบ New Normal

ทำให้ในขณะนี้นักเรียนไทยที่เดินทางกลับมาก่อนหน้านี้เริ่มอยากกลับไปเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์แล้ว เพราะมั่นใจในความปลอดภัย โดยสุพัตราคาดว่า นักเรียนนักศึกษาจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการพิจารณาให้เดินทางเข้าประเทศก่อนการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามหากนักเรียนนักศึกษาสามารถเดินทางเข้าไปที่นิวซีแลนด์ได้แล้ว สุพัตราเล่าว่า NZ Study ต้องมีการเพิ่มการปฐมนิเทศ และการเตรียมตัวเรื่องความปลอดภัยให้แก่นักเรียนเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่แต่เดิมเคยดูแลเรื่องการให้คำแนะนำ เลือกสถาบัน วางแผนการเรียนให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน จัดหาที่พัก และประสานงานกับโรงเรียนให้อยู่แล้ว

โควิด-19 โอกาสดีในการพัฒนาองค์กร

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลเสียต่อบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักเรียนไทยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แต่สุพัตรามองในมุมบวกว่า ช่วงนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาระบบงานหลังบ้านเพื่อดูแลนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทีมงานก็ต้องพัฒนาตัวเองผ่านการอบรม Webinar ต่างๆ เพื่อเสริมทักษะใหม่ๆ

อย่าปิดโอกาสตัวเอง ยังมีโอกาสดีๆ รออยู่ช่วงโควิด

พอถามว่า “จะแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือคนที่กำลังวางแผนไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างไร ควรชะลอไปก่อนไหม?” สุพัตราตอบด้วยความแน่ใจว่า ช่วงเวลาโควิด-19 เป็นโอกาสดีของคนที่กำลังอยากไปเรียนต่อ เพราะมีทั้งทุนการศึกษา และส่วนลดพิเศษ ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการไปเรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ถูกลง ทั้งการสนับสนุนค่าที่พักหากต้องกักตัวหลังเข้าประเทศ การให้เรียนออนไลน์แบบฟรีๆ หรือแม้แต่บางมหาวิทยาลัยให้ลองเรียนก่อน 7 สัปดาห์ หากพอใจจึงค่อยชำระค่าเรียน

ประกอบกับปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกลง ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการไปเรียนต่อมีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะนิวซีแลนด์ยังคงเป็นประเทศเล็กๆ ที่น่าอยู่ ผู้คนเป็นมิตร มีคุณภาพชีวิตดีในระดับโลก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่นิวซีแลนด์สนับสนุนด้านการศึกษาของชาวต่างชาติอยู่แล้ว

ข้อมูลจาก – กรมการกงสุล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา