Work From Home ไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ องค์กรต้องปรับ พนักงานต้องพร้อม

ABeam บริษัทที่ปรึกษาด้าน digital transformation ชี้บริษัทไทยปรับรูปแบบการทำงานระยะไกลแค่ภายนอก นำเทคโนโลยีมาใช้เพียงอย่างเดียว พนักงานขาดทักษะและความเข้าใจ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีการทำงานแบบ remote working หรือการทำงานระยะไกลมากขึ้น ทำให้แต่ละบริษัทต้องหาวิธีการสื่อสารและเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานสามารถปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานให้ตอบโจทย์กับเป้าหมายของบริษัท องค์กร ความพึงพอใจของลูกค้า และคงรักษาประสิทธิภาพในการทำงานเอาไว้ได้ด้วย

โดยหากแบ่งระดับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานออกเป็น 4 ระดับ คือ

  1. บริษัทมีการนำระบบ IT และแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยให้พนักงานสามารถทำงานต่อไปได้แต่พนักงานไม่คุ้นเคย
  2. พนักงานใช้เครื่องมือ IT ได้แต่ยังไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร
  3. พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็นลง ประสิทธิผลโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น
  4. การปรับระดับองค์กร หรือ การปรับรูปแบบธุรกิจ (Business model) ให้สอดคล้องกับยุควิถีใหม่หรือ new normal เชื่อมโยงทั้งลูกค้าและพันธมิตรให้มากขึ้น

องค์กรส่วนมากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแค่เพียงระดับแรกเท่านั้นและยังคงประสบปัญหาในการทรานส์ฟอร์มรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในยุควิถีใหม่

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ระบุว่า จากการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ องค์กรส่วนมากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแค่เพียงระดับแรกคือการนำระบบ IT และแอปพลิเคชันเข้ามาใช้ในการสนับสนุนการทำงานเท่านั้น แต่ยังประสบปัญหาในเรื่องการทำงานให้มีประสิทธิภาพเนื่องจากพนักงานขาดทักษะ ความรู้ความเข้าใจ กระบวนการทำงานเดิมล้าหลังไม่พร้อมต่อวิถีการทำงานแบบใหม่ รวมถึงแนวทางและนโยบายของบริษัทที่ไม่มีความชัดเจน ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดย ABeam แนะนำว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อตอบรับกับวิถีนิวนอร์มอลให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวนั้นบริษัทควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้ คือ

  • การกำหนดนโยบายและแนวทางปฎิบัติในการทำงานแบบ remote working
  • การเลือกเครื่องมือที่สนับสนุนการทำงานของพนักงาน
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยทาง IT
  • การเตรียมความพร้อมของพนักงานและกระบวนการทำงานในรูปแบบดิจิทัล
  • การบริหารจัดการแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานในช่วงระหว่างการ work from home

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายบริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบไป Work From Home อย่างกระทันหันส่งผลต่อความพร้อมในหลายๆ ด้านของทั้งบริษัทและพนักงาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปหากพนักงานยังขาดทักษะและองค์กรขาดความพร้อมในการช่วยเหลือพนักงาน การปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความพร้อมอีกครั้งคงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ครั้งสำคัญของหลายบริษัทสำหรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา