โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ไม่ใช่แค่การเลื่อนวันฉายไม่มีกำหนด หรือการเลือกลงในบริการสตรีมมิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมผิดกฎหมายอย่างภาพยนตร์ฉายชนโรง ที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เช่นกัน
การละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่เรามักเห็นกันอย่างชินตา คือ ภาพยนตร์ชนโรงบนที่เปิดให้ดาวน์โหลดและรับชมบนเว็บไซต์ออนไลน์ แทบจะทันทีที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นเข้าฉายในโรงภาพยนตร์
จากการศึกษาของ Global Innovation Policy Center พบว่าในแต่ละปีการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ สร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาปีละ 2.99-7.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.93 แสนล้านบาท-2.12 ล้านล้านบาท
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมาก การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชมเลือกในยุคนี้ ด้วยความเสี่ยงของสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ในที่สุดผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่จึงตัดสินใจที่จะนำภาพยนตร์ของตัวเองฉายบนบริการสตรีมมิง ทดแทนการฉายในโรงภาพยนตร์
ในกรณีของ Disney นำภาพยนตร์เรื่อง Mulan เข้าฉายบน Disney+ ทันที พร้อมโรงภาพยนตร์ โดยเสียค่าชมเพิ่มเติม 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 897 บาท แยกจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ส่วน Warner Media ก็ประกาศว่า จะนำภาพยนตร์ทั้งหมดในปี 2021 ฉายในแอป HBO Max พร้อมกับการฉายในโรงภาพยนตร์ ไม่ต้องรอให้ภาพยนตร์ออกจากโรงก่อน
ภาพยนตร์ไม่เข้าโรง ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ละเมิดลิขสิทธิ์?
ที่ผ่านมาอัตราการระเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ หรือที่เราเรียกกันว่าหนังเถื่อน จะยิ่งมีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหากภาพยนตร์ที่เข้าฉายเป็นภาพยนตร์ดังระดับ Blockbuster และมีการทำการตลาดมากเพียงใด ก็จะยิ่งเป็นการทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะภาพยนตร์ดังที่หาดาวน์โหลดเถื่อนได้ตามเว็บไซต์ออนไลน์
อย่างภาพยนตร์เรื่อง Mulan ที่เปิดให้รับชมบน Disney + ก็พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ออนไลน์ที่สูงในช่วงแรกๆ เช่นกัน
คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วผู้ผลิตภาพยนตร์จะป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร ในวันที่ภาพยนตร์ฉายผ่านช่องทางสตรีมมิงเพียงอย่างเดียว หรือฉายพร้อมกับโรงภาพยนตร์
หนึ่งในทางแก้ที่ Warner Media ใช้ คือ การเปิดกำหนดวันเข้าฉายของภาพยนตร์เรื่อง Wonder Woman 1984 ในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกฉายไปแล้ว 2 สัปดาห์ โดยในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้เข้าฉายทั้งในโรงภาพยนตร์และแอปพลิเคชัน HBO Max พร้อมๆ กัน
โดยการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์พร้อมๆ กันกับการฉายในแอปพลิเคชัน จะทำให้ผู้ชมสามารถเลือกชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ได้ก่อนที่เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์จะนำไฟล์ภาพยนตร์ที่มีความคมชัดสูงไปอัพโหลดลงบนเว็บไซต์ของตัวเอง
Michael Smith ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon University แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ว่า คนส่วนมากที่รับชมภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นเพราะไม่มีช่องทางที่ถูกลิขสิทธิ์ให้เลือกรับชม ซึ่งคนกลุ่มนี้หากมีช่องทางถูกสิขสิทธิ์ก็พร้อมที่จะยอมจ่ายเงินเพื่อชมภาพยนตร์
ความท้าทายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ต้องสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ตามการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งข้อมูลการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ได้รับการรวบรวมมา สามารถบ่งบอกความนิยมของภาพยนตร์ หรือสื่อบันเทิงแต่ละเรื่องได้เช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างๆ ต้องการนำภาพยนตร์ไปฉาย ก็สามารถทำนายความนิยมได้
แต่อย่างไรก็ตามในปี 2021 อาจแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะการเก็บข้อมูลการละเมิดลิขสิทธิ์อาจไม่ได้บ่งบอกความนิยมที่แท้จริงของภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงในแต่ละประเทศได้อีกต่อไป
เพราะโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงภาพยนตร์ที่ไม่สามรถเปิดได้ตามปกติ หรือหากเปิดได้ก็มีจำนวนผู้ชมน้อยลง ผู้ชมบางส่วนอาจเลือกที่จะรับชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางที่ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการทดแทนการรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ก็ได้
อนาคตอยู่ที่ชมเลือก จะเลือกจ่ายเงินในช่องทางที่ถูกต้องหรือไม่
แต่ในปี 2021 นี้ ตัวเลือกของผู้ผลิตภาพยนตร์เหลือไม่มากนักหากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีความรุนแรง จึงเป็นที่จับตามมองว่าผู้ชมจะเลือกอะไรระหว่างการยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการสตรีมมิง หรือจะเลือกรับชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจะยิ่งเป็นการลดรายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ลง
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา