การท่องเที่ยวแบบแบกเป้สะพายหลังหรือท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็ค (Backpacker) ถือเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านชีวิตผู้คนจากช่วงวัยหนึ่งสู่วัยหนึ่ง ผ่านการเรียนรู้ ผ่านการเดินทางจากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ผ่านการเปลี่ยนสถานะ การท่องเที่ยวแบบนี้เป็นวิถีท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่มีมายาวนานเกือบ 70 ปีแล้ว มีมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ราวทศวรรษที่ 1950-1960
เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะสำรวจโลกผ่านการเดินทางก้าวข้ามภูมิภาค ประเทศ หรือตัวเมืองต่างๆ มันต้องใช้ระยะเวลาเคลื่อนตัวเองจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง เหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างความสนุก ตื่นเต้นจากการผจญภัยในการเดินทางแต่ละครั้ง หลังจากโควิดระบาดทั่วโลก การจำกัดพรมแดน การปิดเมืองเพื่อจำกัดการเดินทาง เพื่อสกัดกั้นการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คทั้งหลายไม่สามารถเดินทางได้
การเดินทางจากยุโรปมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นที่รู้จักกันในนามว่าตามรอยฮิปปี้ คือคำเรียกของบุปผาชน หรือเหล่าหนุ่มสาวฮิปปี้ที่ต้องการท่องเที่ยวด้วยงบประมาณที่จำกัด โดยมีแรงบันดาลใจมาจากคู่มือท่องเที่ยวฉบับแรกของ Lonely Planet ที่เขียนโดยผู้ก่อตั้ง โทนี่และมอรีน วีลเลอร์
หลังจากที่คู่มือการเที่ยวเล่มนี้ออกมาครั้งแรก สามารถผลักดันให้ผู้คนออกมาเดินทางได้จำนวนมาก บางครั้งเขาก็เรียกการท่องเที่ยวแบบนี้ว่า ตามรอยแพนเค้กกล้วย คือการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอยู่รอบๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และบางครั้งการหมายถึงเกสต์เฮาส์ คาเฟ่และร้านอาหารที่เหล่าแบ็คแพ็คเดินทางไป และมีการเสิร์ฟอาหารในรูปแบบของอาหารเช้าที่ปรับจากอาหารของตะวันตก ซึ่งก็มีแพนเค้กกล้วย หรือโยเกิร์ตกับธัญพืชและน้ำผึ้ง เป็นต้น บางครั้งคำนี้ก็สื่อถึงคนที่เดินทางโดยใช้คู่มือของโลนลี่ แพลนเน็ทในการนำเที่ยวด้วย
แคช ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การเดินทางแบบงบน้อย ระบุว่าการท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเป็นแนวคิดแบบไร้กาลเวลา เธอบอกว่าการท่องเที่ยวแบบนี้มันง่ายต่อการเข้าถึง เธอเที่ยวแบบแบ็คแพ็คมานาน 20 ปีแล้ว มันให้ความรู้สึกเชื่อมโยง มีความเป็นมนุษย์ มีสเน่ห์ที่ทำให้ผู้คนอยากรู้อยากเห็นไม่มีที่สิ้นสุดไม่ว่าเธอจะอายุเท่าไรก็ตาม
IATA เคยระบุไว้ว่า โควิดระบาดทำให้ธุรกิจการบินสูญเงินราว 1.57 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020-2021 ดังนั้น อาจจะถึงยุคสิ้นสุดเที่ยวบินราคาถูกได้ หลังจากที่วัคซีนเริ่มแจกจ่ายในหลายประเทศซึ่งก็มีทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษ ต่อจากนี้ก็อาจจะมีการเรียกร้องให้ผลตรวจ PCR (ตรวจโควิดทางลมหายใจ) ทั้งการเดินทางแบบขาเข้าและขาออกในหลายประเทศ ส่วนใหญ่ค่าตรวจไม่ฟรี
การท่องเที่ยวแบบต้นทุนต่ำในยุคโรคระบาดจะอยู่รอดอย่างไรเมื่อต้องมีการเว้นระยะทางสังคม การตรวจโรค การสอบสวนโรค มีความเป็นไปได้ว่าค่าเที่ยวบินจะแพงขึ้น และข้อจำกัดการเดินทางจะเปลี่ยนแปลงไป รายได้ของเหล่าแบ็คแพ็คย่อมได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค และแม้ว่าการท่องเที่ยวของกลุ่มแบ็คแพ็คจะมีราคาต่ำ แต่ก็ถือว่าเป็นก้อนรายได้มหาศาลสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
WYSE ระบุว่าการท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คในแต่ละปีมีการใช้เงินในแต่ละทริปช่วงปี 2017 อยู่ที่ราวๆ 4,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.28 แสนบาท โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นที่โปรดปรานสำหรับกลุ่มท่องเที่ยวแบ็คแพ็คทั้งหลายโดยเฉพาะไทย ติดอันดับท็อปสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว
ในแต่ละปีจะมีผู้คนเดินทางมากรุงเทพฯ ราว 20 ล้านคน และจำนวนมากจะมุ่งไปถนนข้าวสาร นี่ก็เป็นที่โปรดปรานของเหล่าแบ็คแพ็คเช่นกัน ถนนเส้นที่เต็มไปด้วยผับ บาร์ ร้านอาหาร โรงแรม อาหารริมทางเดินทั้งหลายเหล่านี้ล้วนดึงดูดใจเหล่าแบ็คแพ็คจำนวนมาก ผู้คนที่มาท่องเที่ยวบริเวณถนนข้าวสาร 90% ล้วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ในปี 2017 เคยมีข้อถกเถียงถึงภาษีสำหรับชาวแบ็คแพ็คในออสเตรเลียด้วย ซึ่งหมายถึงผู้ที่ถือวีซ่าเดินทางไปทำงานต่างประเทศในระยะเวลาสั้นๆ พวกเขาจะต้องจ่ายภาษี 15% ในขณะที่ชาวออสเตรเลียที่มีรายได้น้อยอยู่ที่ 1.82 หมื่นเหรียญออสเตรเลียหรือประมาณ 4.22 แสนบาทต่อปี จะได้รับการงดเว้น ไม่ต้องจ่ายภาษี การเรียกเก็บภาษีจากชาวแบ็คแพ็คให้ความรู้สึกถูกเอาเปรียบและไม่ยุติธรรมเท่าที่ควร
เดนนิส โทรคาช รองศาสตราจารย์ด้านการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ฮ่องกง มหาวิทยาลัยโพลิเทคนิค ระบุว่า นักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คคือผู้ที่ออกเดินทางเพื่อสำรวจเส้นทาง ซื้อสินค้าของคนในท้องที่ และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนท้องถิ่น แต่ก็มีจำนวนมากเช่นกันที่ทำลายสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และประพฤติตัวไม่เหมาะสมผ่านการปาร์ตี้ เป็นไปได้ว่า ผลจากการระบาดของโควิดอาจทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หายไป
เจนนี่ พาวเวล ประธานสมาคมการท่องเที่ยวแบ็คแพ็คของกลุ่มเยาวชน กล่าวว่า กลุ่มแบ็คแพ็คสร้างผลบวกต่อนิวซีแลนด์หลายแง่มุม ก่อนโควิดระบาด คนหนุ่มสาวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวราว 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด สร้างรายได้ให้มหาศาลราว 1.5 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์ หรือประมา 3.23 หมื่นล้านบาท การหายไปของชาวแบ็คแพ็คสร้างผลกระทบต่อพวกเรามาก นอกจากนี้พาวเวลยังมองว่า การเดินทางของพวกเขามีคุณค่า ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมใหม่ๆ ด้วย
ด้านสมาคมโฮสเทลเยาวชน เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร เปิดให้โรงเรียน ครอบครัว คู่รัก และแบ็คแพคเข้าพัก เพิ่งฉลองครบรอบ 90 ปีไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ระบุว่ารายได้ลดราว 75% สูญเงินประมาณ 41 ล้านเหรียญสหรัฐจากการหายไปของกลุ่มแบ็คแพ็ค
สรุป
การหายไปของกลุ่มแบ็คแพ็ค ที่ดูจะใช้จ่ายเงินน้อย แต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ราว 1.2 แสนบาท เป็นกลุ่มที่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในสังคม เป็นการดูดซับและแลกเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตของทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและสถานที่ที่เขาได้ไปพักและท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่มาช่วยกระจายรายได้ยังประเทศที่แวะพัก ท่องเที่ยว ทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ
โควิดระบาดมีแนวโน้มทำให้ค่าใช้จ่ายหลายทางเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าเที่ยวบิิน ค่าที่พัก ค่าเดินทาง การกำหนดโควตาเพื่อเข้าประเทศหรือจำกัดแค่เฉพาะกลุ่มนักธุรกิจอาจทำให้กลุ่มแบ็คแพ็คหายไป อีกทั้งข้อจำกัดด้านสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เช่น ค่าตรวจโรค เหล่านี้น่าจะทำให้ความนิยมของชาวแบ็คแพ็คลดลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
ที่มา – CNN, Lonely Planet, Australian Gov
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา