สหภาพยุโรป-จีน ปิดดีลด้านการลงทุนสำเร็จ หลังใช้เวลาถึง 7 ปีในการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงนี้

สหภาพยุโรปและจีนสามารถบรรลุข้อตกลงด้านการลงทุนสำเร็จ หลังจากใช้เวลา 7 ปีในการเจรจา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะคุ้มครองเอกชนของยุโรปในด้านต่างๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน ฯลฯ แต่ดีลนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกาได้

European Union สหภาพยุโรป
ภาพจาก Shutterstock

สหภาพยุโรปกับจีนได้บรรลุข้อตกลงด้านการลงทุนเป็นที่เรียบร้อย หลังจากใช้เวลานานถึง 7 ปี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆ ทั่วทวีปยุโรปที่ลงทุนในจีน รวมถึงทำให้การเข้ามาลงทุนในประเทศจีนสะดวกมากยิ่งขึ้น

ข้อตกลงดังกล่าวหยุดชะงักงันในการเจรจาหลายรอบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสหภาพยุโรปมองว่าจีนเองไม่มีความจริงใจที่จะทำข้อตกลงดังกล่าวนี้ แต่ดีลนี้กลับสำเร็จได้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้จากความพยายามของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากยุโรปเองมองว่าข้อตกลงนี้จะเป็นผลดีกับเอกชนในระยะยาว

ขณะที่จีนเองได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาจึงทำให้หันมาคืนดีกับสหภาพยุโรปอีกครั้ง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีความขัดแย้งในเรื่องของการลงทุนที่เอกชนจีนเข้าไปลงทุนก็ตาม

ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเคยเรียกร้องให้จีนเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนมาแล้ว เนื่องจากบริษัทจีนหรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจของจีนนั้นสามารถเข้ามาลงทุนในทวีปยุโรปได้โดยเสรี แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนของยุโรปเองกลับประสบปัญหาในการเข้าไปสู่ตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นชาวจีน การบังคับให้ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา

หลังจากข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้แล้วนั้นจะทำให้เอกชนของยุโรปสามารถเข้ามาซื้อกิจการในจีนได้ สามารถแข่งขันกับเอกชนจีนได้อย่างเสรีในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ รถยนต์ พลังงานสะอาด เคมีภัณฑ์ เทคโนโลยีการขนส่ง ฯลฯ รวมถึงเอกชนของยุโรปเองไม่ต้องโดนข้อบังคับในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ข้อมูลความลับทางธุรกิจอีกต่อไป

ขณะเดียวกันเองนั้นจีนก็จะยอมรับข้อตกลงที่สหภาพยุโรปที่รัฐวิสาหกิจของจีนจะต้องไม่เอาเปรียบบริษัทเอกชนของยุโรป เช่น กรณีของรัฐวิสาหกิจจีนซื้อสินค้าจากบริษัทเอกชนจีนแต่อย่างเดียวนั้นจะทำไม่ได้หลังจากนี้ แต่ต้องมีความโปร่งใสในการซื้อสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนจะต้องรายงานถึงความโปร่งใสในเรื่องเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ดีข้อตกลงดังกล่าวนี้อาจสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกา หลัง โจ ไบเดน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐในช่วงเดือนมกราคม 2021 รวมถึงข้อตกลงดังกล่าวยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองในยุโรปจากความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่จีนเองไม่ยอมรับในเรื่องนี้

ที่มา – European Commission, NPR, CNN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ