น้ำดื่มสิงห์ ของ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ได้พัฒนา Singha Rewards หรือ สิงห์ รีวอร์ด ขึ้นมาเพื่อยกระดับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM จากเดิมที่ สินค้า Mass Product อย่าง น้ำดื่ม ทำ CRM ได้ยาก ใกล้เคียงที่สุดคือการชิงโชค หรือ Lucky Draw แต่ก็ใช้งบโฆษณาสูงมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนดื่มกับแบรนด์ใกล้ชิดกันแต่อย่างใด
Singha Rewards ตอบแทนให้แฟนพันธุ์แท้น้ำดื่มสิงห์
ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มการตลาดแบรนด์ (Chief Marketing Officer – Brand) ของ บุญรอดเทรดดิ้ง บอกว่า ภาพตลาดกลุ่มเครื่องดื่ม แคมเปญที่มีการทำมาโดยตลอดคือการชิงโชค หรือ Lucky Draw ทำครั้งเดียวจบ กระตุ้นยอดขายในบางช่วงเวลา แต่ผู้บริโภคต้องอาศัยโชคว่าจะได้รางวัลหรือไม่
ขณะที่น้ำดื่มสิงห์ ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีคนชื่นชอบ ดื่มเป็นประจำจนเรียกเป็น แฟนพันธุ์แท้น้ำดื่มสิงห์ เข้าร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหาร ก็จะดื่มน้ำสิงห์เป็นหลัก ซึ่งการจะบริหารความสัมพันธ์กับแฟนพันธุ์แท้ Lucky Draw ไม่ตอบโจทย์ และไม่ถือว่าเป็น CRM แต่พอมีสมาร์ทโฟน มีดิจิทัลเข้ามา ทำให้ปลดล็อคได้ทันที ใครดื่มน้ำสิงห์เป็นประจำ ก็สนุกสนานกับโปรแกรมนี้ได้เลย
น้ำดื่มสิงห์ เริ่มต้นทำ Singha Rewards ด้วย 3 แนวทางคือ
- ต้องง่าย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปให้ยุ่งยาก แค่แอด LINE @SinghaRewards จากนั้นทุกครั้งที่เปิดน้ำดื่มสิงห์ นำรหัสใต้ฝามากรอก หรือสแกน QR Code เพื่อสะสมแต้มได้ทันที
- ต้องมีประโยชน์ สิงห์ให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง เช่น เติมบัตรรถไฟฟ้า, โค้ดส่วนลด LINE MAN, อาหารและเครื่องดื่ม, โค้ดอ่านหนังสือ, หรือการสะสมแต้มของเมมเบอร์ชิพอื่นๆ คือนำแต้ม Singha Rewards มาแลกได้จริง ใช้ได้จริง ไม่ต้องลุ้น
- ต้องสนุก นอกจากการนำแต้มมาแลกของรางวัลแล้ว แต่ก็ยังมี Lucky Draw อยู่ ให้ได้ชิงโชคได้ลุ้นได้สนุกกัน
ธิติพร บอกว่า แฟนพันธุ์แท้น้ำดื่มสิงห์ ยังไงก็ดื่มสิงห์อยู่แล้ว ดังนั้น Singha Rewards จึงเป็นการตอบแทนโดยตรงให้การดื่มน้ำสิงห์มีประโยชน์มากกว่าแค่การดับกระหายคลายร้อน ทำให้แฟนพันธุ์แท้อยู่กับสิงห์ไปตลอด และทำให้คนที่ไม่ติดแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ก็สนใจมาดื่มน้ำสิงห์มากขึ้น
สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ประหยัดงบประมาณด้วย
ปัจจุบัน น้ำดื่มสิงห์ มีส่วนแบ่งตลาดน้ำดื่ม ประมาณ 23-24% โดยในจำนวนนี้สัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 เป็น แฟนพันธุ์แท้น้ำสิงห์ที่ดื่มประจำ ส่วนอีก 2 ใน 3 เป็นผู้บริโภคทั่วไป ซึ่ง Singha Rewards ช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้น โดยปัจจุบัน Singha Rewards มีจำนวนสมาชิกประมาณ 8.7 ล้านราย และมี Active กว่า 1 ล้านรายต่อเดือน
สิ่งที่สิงห์ได้จากการทำ Singha Rewards ซึ่งต่างจากการทำ Lucky Draw คือ ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารที่ลดลงอย่างมหาศาล ต้องยอมรับว่า ในการทำตลาดแคมเปญ Lucky Draw ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารอาจจะสูงกว่ามูลค่าของรางวัล เพราะ แบรนด์ต้องใช้พลังอย่างหนักในการติดต่อลูกค้าให้รับรู้ว่ามีแคมเปญนี้ และต้องทำซ้ำเรื่อยๆ จนกว่าจะจบแคมเปญ
แต่เมื่อมาใช้ Singha Rewards ทำให้มีช่องทางในการติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรงผ่าน LINE เรียกว่าเจาะกลุ่มลูกค้าโดยตรง และนำงบด้านการสื่อสารมาเปลี่ยนเป็นของรางวัลตอบแทนให้กับลูกค้าได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีการใช้งบสื่อสารการตลาดอยู่ เพื่อไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่ได้อยู่ใน Singha Rewards
สรุป
ธิติพร บอกว่า จากการสำรวจตลาดทั่วโลก ยังไม่มีสินค้า Mass Product ใดทำการสะสมแต้มให้ลักษณะนี้ แต่หลังจากที่ทำ Singha Rewards และได้รับการตอบรับดี ตอนนี้เริ่มมีหลายแบรนด์ในตลาดทำแล้ว เพราะสะดวกกว่า ประหยัดกว่า และประสิทธิภาพดีกว่า
สำหรับปี 64 ตั้งเป้าการเติบโตสมาชิก 10 ล้านราย แต่จะเน้น Active User มากกว่าอยากให้คนมาร่วมสนุกมากๆพอเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรู้ความต้องการลูกค้าได้ อะไรที่ลูกค้าชอบสิงห์ก็จะหามาให้โดนใจมากขึ้น
เมื่อเทียบกับการทำ Lucky Draw แบบในอดีต ผู้บริโภคต้องเสียเงินส่ง SMS ทางแบรนด์ก็ต้องเสียเงินค่าระบบ ต้องจ่ายเงินค่าสื่อสารการตลาด ค่าโฆษณา ลูกค้าที่บริโภคปริมาณมาก แต่ถ้าไม่มีโชคก็ไม่ได้รางวัล สุดท้ายของรางวัลที่ได้ถูกใจหรือไม่ก็ไม่รู้อีก เรียกได้ว่า Singha Rewards มาแก้ปัญหาได้ทั้งหมด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา