The New York Times ตีแผ่ข้อมูลให้โลกรู้
รัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ข่าวโควิด-19 ระบาดในประเทศอย่างไรให้มีแต่เนื้อหาข่าวดีๆ
โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีข่าวแพร่สะพัดการติดเชื้อแห่งแรกที่อู่ฮั่น จีน ช่วงแรกๆ ข่าวแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทั่วโลกอินเทอร์เน็ตจนจีนรู้สึกสั่นคลอน เพราะไม่สามารถควบคุมโทนและเนื้อหาข่าวที่กำลังกระพือไปทั่วได้
ช่วงแรกๆ ที่นายแพทย์หลี่ เหวินเหลียงเริ่มออกมาเตือนภัยจากโรคระบาด เขาทั้งถูกตำรวจขู่ กล่าวหาว่าเขาเผยแพร่ข่าวลือจนในที่สุดเขาก็เสียชีวิตจากการติดโควิด ชาวจีนจำนวนมากเสียใจและสาปแช่งรัฐบาล สิ่งนี้คือต้นทุนที่จีนต้องจ่ายหลังพยายามกดปราบไม่ให้ความจริงแพร่กระจายออกไป
การเสียชีวิตของหมอหลี่ผู้แฉข่าวโควิด-19 ยิ่งสร้างความเกลียดชังจากประชาชนถึงรัฐบาลจีน
ช่วงแรกๆ ที่หมอหลี่เสียชีวิต ทำให้รัฐบาลยิ่งพยายามเซ็นเซอร์ข่าวหนักขึ้น ด้วยการสั่งให้เว็บไซต์ข่าวไม่แจ้งให้ผู้อ่านรับรู้ถึงการเสียชีวิตของหมอหลี่ รัฐบาลจีนให้โซเชียลแพลตฟอร์มค่อยๆ เอาข่าวของหมอหลี่ออกจากพาดหัวข่าวที่กำลังเป็นกระแส ให้คนมาแทรกแซงการวิพากษ์วิจารณ์ให้เนื้อหาไขว้เขว ไม่ให้มีการโพสต์แสดงความคิดเห็น ไม่ทำให้คนรู้สึกสงสัยจนอยากหาความจริง พยายามควบคุมการสนทนาในแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่สร้าง # แฮชแท็กต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และค่อยๆ เอาประเด็นนี้ออกไปจากความสนใจของผู้คน
ทีมดูแลไซเบอร์ต้องใส่ใจต่อการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องควบคุมความคิดเห็นที่จะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่พวกเขาเชื่อว่าจะนำไปสู่การโจมตีระบบทางการเมือง
ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำสั่งการที่มีอีกเป็นจำนวนมาก เป็นคำสั่งการโดยรัฐบาลจีนในทางลับสำนักข่าว The New York Times และ ProPublica ได้รับข้อมูลชุดนี้มาและนำมาเปิดเผยให้โลกรับรู้โดยทั่วกันว่า รัฐบาลจีนพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างไร
สื่อดิจิทัลแบ่งสังคมเป็นโลกตะวันตกที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและจีนที่มีการควบคุมการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ซึ่งผ่านฉันทามติพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2020 คือการพยายามจัดการกับการนำเสนอเนื้อหา การควบคุมโทนข่าว
การพยายามควบคุมเนื้อหาของจีนในแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนของจีน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ กองทัพ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เหล่านี้ล้วนมีการมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาและมีแนวโน้มใช้งบประมาณมหาศาลสำหรับความทุ่มเทนี้ด้วย
สหรัฐฯ และหลายประเทศต่างมองว่าจีนพยายามปิดข่าว หากจีนกระจายข้อมูลได้ชัดเจนตั้งแต่แรกก็อาจทำให้ป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ขณะที่ฝั่งจีนนั้นก็มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่พยายามป้องกันไม่ให้เกิดความตระหนกเกิดขึ้นและพยายามทำให้เห็นว่าไวรัสไม่ใช่เรื่องร้ายแรงขนาดนั้น รัฐบาลจีนจัดการได้ ซึ่งเอกสารจำนวนมากแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลพยายามมอนิเตอร์การถกเถียงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และรัฐพยายามเข้าไปจัดการการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว
อาวุธอานุภาพร้ายแรงของจีน ไม่ใช่แค่เซ็นเซอร์ข่าว แต่สร้างการเล่าเรื่องแบบใหม่ให้ไม่ส่งผลลบ
ด้าน Xiao Qiang นักวิทยาศาสตร์วิจัยจาก Berkeley ผู้ก่อตั้ง China Digital Times เล่าว่า จีนมีอาวุธทางการเมืองชนิดหนึ่ง นั่นคือการเซ็นเซอร์ มันสามารถกลั่นกรอง จัดการ ร่วมมือ และส่งเสริมเครื่องมือรัฐได้ มันไม่ใช่แค่การลบข้อมูลบางอย่าง แต่มันยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างเรื่องเล่าที่มีเป้าหมายเพื่อเป้าหมายใดๆ ก็ตามที่ส่งผลในระดับมหึมา มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่มีประเทศไหนทำแบบนี้
การควบคุมเรื่องเล่านี้ Xi Jinping ผู้นำระดับสูงเป็นคนก่อตั้งทีมบริหารไซเบอร์ขึ้นมาในจีนตั้งแต่ปี 2014 มีการจัดการแบบรวมศูนย์ เซ็นเซอร์ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และโฆษณาชวนเชื่อ ทุกวันนี้คณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเรืองอำนาจมาก นี่ก็เป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของผู้นำด้วย
ช่วงที่มีข่าวลือเกี่ยวกับไวรัสระบาดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ก็มีคำสั่งให้เว็บไซต์ข่าวใช้เนื้อหาจากทางรัฐบาลเผยแพร่เท่านั้น จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีการประชุมในกลุ่มผู้นำระดับสูงให้จัดการกับสื่อดิจิทัลอย่างเข้มข้น การพาดหัวข่าวจะต้องไม่ทำให้คนตระหนกตกใจกับการอ่านข่าวนั้น หลีกเลี่ยงการใช้คำประเภท เมื่อเป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่หาย อาจทำให้ถึงตายได้ ไม่ให้ใช้คำ lockdown แต่ให้ใช้คำว่าจำกัดการเคลื่อนไหวหรือการเดินทาง เป็นการพยายามควบคุมทิศทางไม่ให้มีข่าวติดลบ
นี่ไม่ใช่แค่การสร้างเรื่องเล่าอย่างเป็นระบบและการเซ็นเซอร์แทบทุกมิติจนทำให้ไม่มีเรื่องลบเท่านั้น แต่ยังจำกัดเนื้อหาที่จะสะท้อนให้เห็นความจริงเบื้องหลังด้วย อาทิ การไม่ให้นำเสนอข่าวการบริจาคหรือมีการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ
แรงงานนับแสนควบคุมทั้งความคิดเห็น แทรกแซงคอมเมนท์ให้ไขว้เขว แลกกับความมั่นคงของจีน
การเสียชีวิตของหมอหลี่ เหวินเหลียง ปลุกความโกรธแค้นของผู้คน ทำให้ทางการจีนต้องพยายามเซ็นเซอร์หนักขึ้น โพสต์ที่แสดงความคิดเห็นรำลึกถึงหมอหลี่จำนวนมากค่อยๆ ถูกลบออกจากแพลตฟอร์ม มีเจ้าหน้าที่ระบุว่า แรงงานต้องอ่านข้อความออนไลน์กว่า 40,000 คอมเมนท์และต้องพยายามกำจัดข้อความที่สร้างความตื่นตระหนกกับคนอ่าน มีคนที่ถูกสอบสวน 16 คน ถูกตักเตือน 14 คน และถูกจับกุม 2 คน ในเขตหนึ่งระบุว่ามีทหารไซเบอร์อยู่จำนวน 1,500 คนมีหน้าที่คอยมอนิเตอร์กรุปแชทอย่างใกล้ชิดใน WeChat
นักวิจัยประเมินว่ามีแรงงานพาร์ทไทม์ในจีนนับ 100,000 ราย ทำงานในลักษณะแสดงความคิดเห็นและแชร์ข้อมูลที่ส่งเสริมอุดมการณ์ของรัฐบาลจีน หลายคนเป็นพนักงานระดับล่าง ซึ่งก็มีทั้งที่อยู่ในรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีซอฟต์แวร์ Urun ที่ช่วยกำหนดทิศทางในการแสดงความคิดเห็นและยังใช้งานง่าย ทำให้คนงานของรัฐบาลสามารถกดไลค์ในข้อความที่โพสต์ได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถติดตามได้ว่าภารกิจที่สั่งการไปนั้นทำสำเร็จหรือไม่ จากนั้นก็จะคำนวณเงินที่ต้องจ่ายให้กับแรงงาน
จากข้อมูลระบุว่า ข้อความ 400 ตัวอักษรจะได้รับค่าแรงอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 750 บาท การลบข้อความเชิงลบจได้เงิน 40 เซ็นต์หรือประมาณ 12 บาท แต่ถ้านำข้อความมาโพสต์ซ้ำจะได้เงินชิ้นละ 1 เซ็นต์ หรือประมาณ 3 บาท นอกจากนี้ ยังมีการเทรนแรงงานให้ฝึกคอมเมนท์ผ่านวิดีโอเกมที่ออกแบบมาเหมือนซอฟต์แวร์ และ Urun ก็สามารถมอนิเตอร์ข้อมูลด้านลบ
การจัดการฝ่ายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ จีนมักจะทำจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่การจัดการข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลจีนแบบที่มีข้อมูลภายในหลุดมาแฉหรือเปิดโปงเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจะได้พบเห็นกันบ่อยนัก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา จีนก็เพิ่งตัดสินโทษจำคุกนักข่าวจีนเป็นเวลา 4 ปี เธอชื่อ Zhang Zhan รายงานเรื่องการระบาดของโควิด ก่อนหน้านี้เธอเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประท้วงของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงก็ทำให้เธอถูกคุมขังในปี 2019 และถูกปล่อยตัว 2 เดือนถัดมา
ที่มา – The New York Times, Taiwan News
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา