อุตสาหกรรมข้าวไทยเจองานหนักทั้งภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ข้าวผลิตได้น้อยลง ความนิยมทานข้าวก็ไม่เหมือนเดิม ไหนจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทั้งจากอินเดียที่มีราคาข้าวต่ำกว่าและเวียดนามที่เป็นคู่แข่งข้าวไทยเรื่อยมา บวกกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าสะสมอีก อาจกล่าวได้ว่า ปี 2021 นี้ อุตสาหกรรมข้าวไทยยังต้องสู้กันอีกมาก
การระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานข้าวในตลาดโลกอย่างมาก ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้งรุนแรง รวมทั้งการจำกัดการส่งออกข้าวชั่วคราวทั้งในเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารส่งผลต่ออุปทานข้าวในตลาดโลก ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวเช่น ฟิลิปปินส์ แอฟริกา ตะวันออกกลางเร่งนำเข้าข้าวเพิ่ม ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวในตลาดโลกปี 2020 พุ่งสูงอย่างก้าวกระโดด
สถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวไทยเสียหายค่อนข้างมาก ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเหลือ 29 ล้านตัน จากปกติอยู่ที่ 32-33 ล้านตัน/ปี ราคาส่งออกข้าวไทย เวียดนาม ปากีสถานในเดือนเมษายน 2020 ขยายตัว 21-33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยในเดือนธันวาคม 2019 ราคาก็ขยายตัวสูงราว 24-30%
ขณะที่ราคาส่งออกข้าวอินเดียขยายตัวต่ำกว่าราคาส่งออกข้าวรายอื่นๆ เดือนเมษายน 2020 ขยายตัว 3% เดือนเมษายน 2019 ขยายตัว 5% จากนั้น ราคาส่งออกข้าวช่วงครึ่งหลังปี 2020 เริ่มปรับตัวลดลง เมื่อความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานข้าวในตลาดโลกบรรเทาลง และส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุมีการกักตุนข้าวปริมาณมากเพียงพอแล้ว
EIC คาดการณ์ส่งออกข้าวไทยปี 2020 อยู่ที่ 5.4 ล้านตัน หดตัว -24%YOY ในสถานการณ์ปกติ ข้าวไทยจะเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศและส่งออก ถ้าปี 2020 ไม่มีการผลิตข้าวเลย ปริมาณสต็อกข้าวจะยังเพียงพอต่อการบริโภคได้นานถึง 5 เดือน แต่ภัยแล้งรุนแรง ทำให้ราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยเดือนมกราคม-กันยายน 2020 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 9,041 บาท/ตัน ขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันปี 2019 อีกทั้งภัยแล้งรุนแรง ทำให้ต้นทุนการรับซื้อข้าวเพิ่มสูงขึ้น ราคาข้าวส่งออกก็เพิ่มตาม ทำให้เสียเปรียบในด้านศักยภาพการแข่งขันกับประเทศอื่น
ขณะเดียวกัน ประเทศผู้นำเข้าข้าว ทั้งแอฟริกาและตะวันออกกลางก็นำเข้าข้าวจากอินเดียมากขึ้น เนื่องจากราคาต่ำกว่า ส่งผลให้ส่งออกข้าวของอินเดียฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้ง ตลาดบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่หันมาบริโภคข้าวพื้นนิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเหนียว นุ่ม จากเดิมที่เคยนิยมบริโภคข้าวพื้นแข็ง ร่วน แข็งกระด้าง และยังพบว่าเวียดนามสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มและยกระดับปริมาณการผลิตได้เพียงพอต่อการส่งออก และเจาะตลาดไปจีน
ขณะที่ไทยนั้นมีข้าวพื้นนิ่มคือข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานีซึ่งเป็นกลุ่มข้าวพรีเมียมที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 15% เท่านั้นในปี 2019 ผลผลิตข้าวไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวพื้นแข็ง มีการส่งออก 44% ของปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวม รองลงมาคือข้าวนึ่ง 29% ข้าวประเภทอื่น 12% สะท้อนว่าข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความนิยมบริโภคข้าวกลุ่มใหญ่ในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากภัยแล้งที่ทำให้ส่งออกข้าวได้ลดลง สายพันธุ์ข้าวที่ส่งออกยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มตลาดส่วนใหญ่แล้ว แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันราคาส่งออกข้าวไทยช่วงที่เหลือของปี 2020 และปัญหารการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออกสินค้าก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปอเมริกาและจีนด้วย
ขณะที่การส่งออกข้าวไปแอฟริกาและเอเชียส่วนใหญ่เป็นเรือเทกองจึงไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ EIC คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวไทยปี 2020 จะอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หดตัว -24% จากปี 2019 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน
สำหรับปี 2021 คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะฟื้นตัวอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ขยายตัว 31%YOY อีกทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 2020/2021 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมาตรการคู่ขนานด้านเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตที่กำหนดไว้ 500 บาท/ไร่ จะยังจูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวต่อไป และคาดการณ์ว่า การเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูการผลิตปี 2020/2021 จะอยู่ที่ 416 กิโลกรัมต่อไร่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2019/2020 อยู่ที่ 393 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณน้ำในเขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกข้าวนาปีปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ตุลาคม 2020 ทำให้ปริมาณน้ำมากเพียงพอสำหรับเพาะปลูกข้าว
แม้การคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 2021 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แต่ยังเป็นปริมาณการส่งออกในระดับต่ำกว่าอดีตค่อนข้างมาก การวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร ทำให้ข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกได้ทันที ทั้งนี้ การระบาดของโควิดและการให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ประเทศที่มีความสามารถในการเพาะปลูกและส่งออกข้าวจะให้ความสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวมากขึ้น
ต่อจากนี้ ไทยต้องเร่งวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกมากขึ้น ยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้ปริมาณผลผลิตมากเพียงพอต่อการส่งออก หากระดับต้นทุนในการเพาะปลูกต่ำ ข้าวพื้นนิ่มไทยก็จะสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ ได้
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา