สิงคโปร์ นอกจากจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้รับวัคซีนจาก Pfizer และ BioNTech แล้ว ล่าสุด กำลังสัญญาณถึงประชาคมโลกว่า สิงคโปร์ใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องแรงงานต่างชาติ หรือแรงงานข้ามชาติ (migrant labors) ที่ต้องจัดการอยู่ มาดูกันว่าการจัดการเชิงรุกของสิงคโปร์เป็นอย่างไร
สิงคโปร์กำลังเข้าสู่เฟส 3 ฟื้นประเทศคืนสู่ภาวะปกติ
สิงคโปร์เตรียมปล่อยให้มีการรวมตัวทางสังคมเป็นกลุ่มขนาดใหญ่มากขึ้น ปล่อยให้คนได้ชอปปิงตามห้างร้านทั่วไปได้อย่างสะดวกและเป็นอิสระมากขึ้น พวกการแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ก็จะเริ่มกลับมาได้ภายใต้มาตรการที่ยังให้ความปลอดภัยสำหรับผู้คนอยู่
ขณะเดียวกัน สิงค์โปร์ก็เตรียมทำ travel bubble พิเศษสำหรับผู้ที่จะเดินทางเพื่อทำธุรกิจ สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีการกักกันโรค หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ก็เตรียมเป็นเจ้าภาพเปิดบ้านให้คนมาประชุม World Economic Forum ด้วย แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังจะให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งหลังวุ่นวายกับการจัดการคุมโรคระบาดโควิดเฉกเช่นประเทศอื่นๆ สิงคโปร์ก็ยังมีแรงงานต่างชาติรายได้น้อยที่ถูกกักกันโรคและยังอยู่ในความดูแลอย่างเข้มข้นอยู่
สิงคโปร์มีกลุ่มแรงงานต่างชาติหลากหลายรูปแบบ มีทั้งระดับสูง (Professionals), ระดับกลาง (Skilled and semi-skilled workers) มีทั้งที่มาฝึกงาน เป็นนักเรียน และครอบครัวเครือญาติคนทำงาน ตัวอย่างคร่าวๆ ดังนี้
- Employment Pass (EP) คือได้รับใบอนุญาตให้ทำงานสำหรับคนต่างชาติระดับวิชาชีพ ระดับบริหาร
- S Pass คือคนต่างชาติที่มีฝีมือแรงงานระดับกลาง เช่น ช่างเทคนิค
- Work Permit (Foreign Domestic Worker: FDW) สำหรับแรงงานต่างชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้าน
- Work Permit (CMP: Cut, Make, Pack หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอ) และอื่นๆ
รวมแล้วแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์มีทั้งหมด 1,351,800 คน (ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแรงงาน สิงคโปร์ ณ มิถุนายน 2020) จำนวนประชากรโดยรวมของสิงคโปร์มีอยู่ราว 5.7 ล้านคน แรงงานต่างชาติรายได้น้อยมักมาจากเอเชียใต้และยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสิงคโปร์ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการก่อสร้างและอู่ต่อเรือ
การติดเชื้อโควิดสะสมโดยรวมในสิงคโปร์ พบว่า 93% เป็นแรงงานต่างชาติและเริ่มติดเชื้อจำนวนมากในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอยู่หอพักรวมของแรงงานต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน จากนั้นจึงทำให้เกิดการ lockdown หอพักแรงงานต่างชาติยาวนาน 28 วัน ก่อนจะค่อยๆ ให้กลับมาทำงานได้ในขณะเดียวกันก็จำกัดการเคลื่อนไหวระหว่างที่พักกับที่ทำงานอย่างเคร่งครัด
หลังจากนั้นมีการติดเชื้อราว 47% เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงกว่าก่อนหน้า 3 เท่า ซึ่งก็เป็นผลมาจากการตรวจโควิด-19 ทั้งสองรูปแบบ คือการตรวจแบบ PCR คือตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ พบว่าติดเชื้อ 54,505 คน และการตรวจโดยการเจาะเลือด ซึ่งการตรวจเลือดคือการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ต้องตรวจเมื่อมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว มีผลเป็นลบ 98,289 คน
แรงงานต่างชาติในมิติสิทธิมนุษยชน: ไม่ควรกักกันนานเกินไปและไม่ควรเลือกปฏิบัติ
Surya Deva อาจารย์จาก City University of Hong Kong และสมาชิกกลุ่มทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า แรงงานต่างชาติคือผู้ขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์เหมือนกับชาติอื่นๆ แต่รัฐบาลปฏิบัติกับแรงงานไม่ค่อยเป็นธรรม บางครั้งก็มีลักษณะเลือกปฏิบัติด้วย
เขาบอกว่า เรากำลังตั้งคำถามว่าทำไมแรงงานต่างชาติที่เปรียบดั่งกระดูกสันหลังของชาติถึงต้องถูกนำมาอยู่ในหอพักรวมกันพร้อมกับข้อบังคับเข้มงวดหนักในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงขนาดนี้ หมายความว่าควรมีการดูแลแรงงานต่างชาติที่ดีกว่านี้ได้ เพราะเขาเป็นกำลังหลัก กำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ขณะที่แรงงานต่างชาติผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจะต้องได้รับอนุญาติก่อน ถึงจะออกมานอกหอพักได้เป็นเวลา 3 ชั่วโมงเพื่อให้ไปทำธุระส่วนตัวได้ และเมื่อสิงคโปร์เริ่มกลับมาเปิดประเทศ แรงงานต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงชุมชนได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง พวกเขาจะถูกให้ใส่เครื่องติดตามโควิดและถูกตรวจโรคเป็นประจำ
นักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานต่างก็ไม่เห็นด้วยกับโยบายของสิงคโปร์ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติลดลงแล้ว รัฐบาลก็ควรผ่อนคลายนโยบายหรือมาตรการที่มีต่อแรงงานมากกว่าที่จะจำกัดเขาให้อยู่ในหอพักรวมกันราวกับเป็นนักโทษของผู้ว่าจ้าง
การจัดการเชิงรุก สร้างหอพักใหม่, จำกัดการเคลื่อนไหวชั่วคราว, ใส่เครื่องติดตามโรค
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์นั้นระบุว่า ประเทศกำลังเข้าสู่เฟส 3 และกำลังจะให้แรงงานต่างชาติกลับเข้าสู่ชุมชนได้ภายใต้มาตรการจำกัดอย่างเข้มงวด โดยเริ่มจากไตรมาสแรกของปี 2021 จะอนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่อยู่ในหอพักเข้าชุมชนได้เดือนละ 1 ครั้ง โดยต้องใส่เครื่องติดตามโควิดด้วยเพื่อความปลอดภัย
ทางสิงคโปร์จะมีการตรวจโรคทุก 14 วัน (Rostered Routine Testing: RRT เพื่อตรวจหาโรค โดยให้แรงงานต่างชาติที่พักอยู่ในหอพักและเป็นผู้ที่ทำงานด้านก่อสร้างและอู่ต่อเรือและอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องอยู่ในลูปตรวจโรคนี้ด้วย เพื่อสามารถควบคุมโรคได้ต่อไป)
ภายในสิ้นเดือนธันวาคม สิงคโปร์จะแจกเครื่องติดตามโรค (BluePass) ให้กับแรงงานต่างชาติ 450,000 คนที่อยู่ในหอพัก หรือทำงานอยู่ในก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และภาคส่วนอื่นๆ เครื่องติดตามโรคนี้จะพัฒนาศักยภาพในการกักกันโรคและสามารถควบคุมการติดเชื้อใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
การนำบลูพาสมาติดที่ตัวของแรงงานต่างชาตินี้ ไม่มี GPS แต่สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้หากมีการติดโรคโควิดเกิดขึ้น ว่าได้มีการสัมผัสหรือใกล้ชิดใครบ้าง ซึ่งคนที่แวดล้อมที่เหลือก็ต้องติดบลูพาสด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้สร้างหอพักใหม่ให้กับแรงงานต่างชาติและพัฒนามาตรฐานความเป็นอยู่ให้ปลอดภัยมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ รัฐบาลเตรียมเดินหน้าทำงานกับหุ้นส่วนและชุมชนเพื่อทำให้บรรยากาศทั้งในการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติเหล่านี้มีความปลอดภัยมากขึ้นพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เฟส 3
ที่มา – Quartz, Ministry of Manpower (1), (2), Ministry of Health Singapore, SCAL (1), (2), (3)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา