กนง. ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เท่าเดิม มองเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีกว่าที่ประเมินไว้ แต่ยังกังวลอัตราว่างงาน

กนง. ยังคงนโยบายดอกเบี้ยที่ 0.5% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดไว้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่ยังมีความกังวลถึงอัตราการว่างงานรวมถึงตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว

Thai Baht Note ธนบัตร 50 บาท
ภาพจาก Shutterstock

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยในการประชุมนั้นมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -6.6% ในปี 2563 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ขณะที่ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโต 3.2% และ 4.8% ในปี 2565 อย่างไรก็ดี กนง. มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจากวัคซีนป้องกัน COVID-19

อย่างไรก็ดีในการประชุมของ กนง. ครั้งนี้ยังกังวลเรื่องพัฒนาการของตลาดแรงงานซึ่งยังมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยช่วงถัดไปหลังจากนี้

นอกจากนี้ กนง. ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ

กนง. ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็วจากสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันมาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง

ด้านมาตรการทางการคลังของรัฐบาลต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ