ในสภาวะที่เงินฝากไม่จูงใจ การวางแผนชีวิตและการลงทุนกลายเป็นทั้งทางออกและความจำเป็น แถมยังควบคู่ไปกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไวเพราะเทคโนโลยี วันนี้จะพาไปดูอีกก้าวของ ธนาคารธนชาต ที่เพิ่งเปิดสาขารูปแบบใหม่ที่พารากอน โดยใช้ชื่อว่า “Thanachart Next” มุ่งสร้างสาขาให้รับระบบดิจิทัล มีตู้และเคาน์เตอร์เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ส่วนพนักงานก็ปั้นให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน
มุ่งดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สร้างพื้นที่ให้คำปรึกษาน่าสนใจ
การมุ่งเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสิ่งที่ธนาคารธนชาตทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ดูได้จากธนาคารธนชาตสาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 4 ที่เรียกว่า Thanachart express เป็นการอำนวยความสะดวกลูกค้าที่ต้องการความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้ให้บริการอัตโนมัติ ไม่มีเคาน์เตอร์ และเป็นสาขาแรกที่ไม่มีเงินสด (Cashless Branch)
ส่วนสาขาล่าสุด Thanachart Next ที่พารากอนเป็นรูปแบบคล้ายกันกับ Thanachart express แต่จะเพิ่มบริการครบวงจรมากขึ้นคือ ยังมีเคาน์เตอร์และตู้ให้บริการอัตโนมัติ ที่เสริมเข้ามาและน่าสนใจคือ “พื้นที่เฉพาะ” สำหรับลูกค้าที่สนใจด้านการเงิน การลงทุน เงินฝากและกองทุนต่างๆ โดยมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบ ต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกเป็นห้องประชุมในบ้านตนเอง เพราะจะมีการให้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพผลัดเปลี่ยนกันมา อย่างเช่น ที่ปรึกษาด้านการเงินจากบลจ. หรือ บล. บริษัทหลักทรัพย์ และที่สำคัญบริการให้คำปรึกษาด้านการเงินทั้งหมดนี้ฟรีค่าใช้จ่าย
ยุทธศาสตร์ Thanachart Next ตีตลาดเขตเมืองได้เท่านั้น
นาย สนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการสายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารธนชาตปิดสาขาไป 23 สาขา เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของลูกค้า ที่ใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารลดลง และในปี 2560 ก็ยังมีแนวโน้มลดลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันไปใช้ digital banking เพิ่มมากขึ้น ธนาคารจึงปรับรูปแบบให้สอดคล้องทันตามกัน แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนรูปแบบสาขาไปเป็นแบบใดนั้น ได้พิจารณาจากความต้องการของลูกค้าในพื้นที่เป็นหลัก
การเปิด Thanachart Next สาขาแรกที่พารากอนจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะลูกค้าที่มาพารากอนส่วนใหญ่จะไม่ใช่ลูกค้าประเภทมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ แต่มาซื้อของและทานอาหาร เพราะฉะนั้นความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้คือความรวดเร็วในการใช้บริการซึ่งมีตู้ให้บริการอัตโนมัติรองรับอยู่แล้ว และแน่นอนว่าลูกค้าที่มาใช้บริการที่พารากอนเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่มีความต้องการลงทุนสูง โดยในส่วนนี้ Thanachart Next รองรับไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนเรื่องการขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่างๆ ยังไม่มีความแน่ชัด เพราะการให้บริการแบบ Thanachart Next จะอยู่ได้เพียงในเขตเมือง หรืออย่างมากก็จะตั้งอยู่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะลูกค้าในเขตชานเมืองอีกมากยังถือว่าเงินสดคือความปลอดภัยที่ไว้ใจได้ แต่แนวโน้มการใช้บริการ digital banking ก็เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมด้วย
ธนาคารไร้เงินสด แต่ไม่ไร้พนักงาน ทักษะคือสิ่งสำคัญ
นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความท้าทายน่าจะมาตกอยู่ที่ “พนักงานแบงค์” เนื่องจากการฝากเงินถอนเงินในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด ดังนั้นที่ทางของพนักงานแบงค์จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากปรับตัว สร้างเสริมทักษะให้มากขึ้น โดยเฉพาะทักษะการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการเงิน การลงทุน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา