ลาก่อนพลังงานเชื้อเพลิง อเมริกาสร้างโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุ่งหน้าพลังงานสะอาด

tesla electric grid 2
photo from Tesla

สหรัฐฯ จริงจังเรื่องการสร้างกริดไฟฟ้าสำหรับกักเก็บพลังงาน

ล่าสุด Moss Landing Power ได้ปฏิวัติตนเองจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่ใน California มาสู่ “กริดไฟฟ้า” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในปี 2021 เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมให้ได้มากพอ

โครงการดังกล่าวจะได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคโนโลยีในแบตเตอรี่จาก Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งโครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในสหรัฐฯ

หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ California จะสามารถกักเก็บพลังงานได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากของเดิม 

นอกจากในแคลิฟอร์เนียแล้ว ก็ยังมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อแทนที่โรงไฟฟ้าพลังงานคาร์บอน เช่น โครงการ Ravenswood ใน New York และมี Manetee System ใน Florida ซึ่งเป็นระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายกริดไฟฟ้าทั่วประเทศให้มีความจุเพิ่มขึ้น 6 เท่า ภายใน 5 ปี จากเดิมที่มีอยู่ 1.2 กิกะวัตต์ ในปี 2020 ไปสู่ 7.5 กิกะวัตต์ ในปี 2025 จากข้อมูลของ Wood MacKenzie บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ

คำถามคือ ทำไมเราต้องสนใจแบตเตอรี่

“แบตเตอรี่จะเป็นสะพานไปสู่อนาคตของพลังงานสะอาด” นี่คือคำพูดของ Benadette Del Chiaro ผู้อำนวยการบริหารของ California Solar and Storage Association ที่ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วทำไมเราต้องสนใจแบตเตอรี่

tesla electric grid 1
photo from Tesla

คำตอบก็คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับ ความไม่ต่อเนื่องของธรรมชาติ ทั้งแสงอาทิตย์และลม ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของพลังงานสะอาดในปัจจุบัน 

เมื่อเราผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการเนื่องจากแดดจ้าหรือลมแรง จะก่อให้เกิดพลังงานส่วนเกินซึ่งจะสูญหายไปในระหว่างวัน ในทางกลับกัน ในวันที่ฟ้าครึ้มและไม่มีลมจะทำให้เราผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าความต้องการ 

แบตเตอรี่ที่ดีจะต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะกักเก็บพลังงานมหาศาล และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นโดยใช้แสงหรือลมที่น้อยลง ทว่าเทคโนโลยีปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัด ทำให้ต้องมีการวิจัยและพัฒนากันต่อไป

แบตเตอรี่จึงเป็นตัวพลิกเกม ที่จะทำให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้สำเร็จ การสนับสนุนในการวิจัยเพื่อสร้าง กริดไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเสมือนแบตเตอรี่ช่วยกักเก็บไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด กลายเป็นวาระสำคัญของภาครัฐ และเป็นโอกาสมหาศาลของธุรกิจ

ภาพรวมของวงการพลังงานสะอาดเป็นบวก

การวิจัยพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกิดจากความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ในราคาถูกมากขึ้น

รายงานจาก US Energy Information Administration ให้ข้อมูลว่า ราคาแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ ลดลงอย่างมหาศาล คือ ลดลงถึง 70% ระหว่างปี 2015-2018 และทำนายว่าจะลดลงอีก 45% ระหว่างปี 2018-2020 

นั่นหมายความว่า นักวิจัยสามารถทำการวิจัยและพัฒนาได้มากขึ้นเพราะต้นทุนการวิจัยต่ำลงนั่นเอง และการวิจัยต่อจากนี้จะให้ผลที่ก้าวกระโดดเพราะราคาแบตเตอรี่ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่เพื่อพลังงานสะอาดยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ในแคลิฟอร์เนีย มีโครงการที่ทะเยอทะยานของมลรัฐที่จะเปลี่ยนให้โรงไฟฟ้าทั้งหมดปราศจากพลังงานคาร์บอนภายในปี 2045 โครงการวิจัยต่างๆ จึงได้อานิสงค์จากความช่วยเหลือของภาครัฐไป

Joe Biden ภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ตาม การขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ Joe Biden ก็เป็นอีกหนึ่งข่าวดี เพราะ Biden ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม สังเกตได้จากการแต่งตั้งตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว เช่น การแต่งตั้ง จอห์น เคอร์รี่ เป็นผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ หรือการแต่งตั้งรัฐมนตรีพลังงานและรัฐมนตรีมหาดไทยที่มีภูมิหลังในด้านสิ่งแวดล้อม

ที่มา – BBC, Yale E360, NYTimes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน