ประชากรเปลี่ยนไป ทำไมเราต้องสน
ประชากร อาจจะเป็นคำที่ฟังดูไกลตัวภาคธุรกิจไปสักหน่อย แต่จริงๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ เพราะประชากรคือ “คน” และคนก็เป็นหัวใจของของธุรกิจ
เราขายสินค้าและบริการให้กับคน และเราก็ต้องการคนเข้ามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ
ต้องไม่ลืมว่าคนในแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน เนื่องจากคนแต่ละช่วงวัยเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ส่งผลที่เกิดคนละยุคมีรสนิยม นิสัย ค่านิยม ความเชื่อ และพฤติกรรมแตกต่างกัน
เมื่อโครงสร้างประชากรในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจก็ต้องให้ความสำคัญ และปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมภาพรวมในสังคมที่ได้เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง
1. หนุ่มสาวกลายเป็นเสาหลักออฟฟิศ
สังคมกำลังจะได้เจอปรากฏการณ์ใหม่ๆ แน่นอน เพราะปัจจุบัน Gen X (อายุ 40-55 ปี ในปี 2020) และ Baby Boomers (อายุ 56-74 ปี ในปี 2020) กำลังทยอยเกษียณอายุออกจากงาน สวนทางกับคนหนุ่มสาว Millennials (อายุ 24-39 ปี ในปี 2020) ที่จะกลายมาเป็นกำลังหลักแทน
Millennials มีความเชี่ยวชาญในสังคมยุคดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาเป็นกำลังหลักในการปรับตัวของที่ทำงานในช่วง โควิด-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ Millennials ทวีความสำคัญในสังคมมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
ดังนั้น วัฒนธรรมในที่ทำงานเดิมที่ถูกออกแบบบนค่านิยมของ Baby Boomers และ Gen X ต้องเผชิญความท้าทายใหม่เมื่อคนหนุ่มสาวมีความสำคัญในสังคมการทำงานมากขึ้น
พวกเขาต้องการสังคมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับคุณวุฒิ เคารพสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขา ซึ่งเป็นช่องทางให้พวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิต หากธุรกิจไม่ปรับตัวตามสังคมที่เปลี่ยนไป ก็อาจต้องสูญเสียคนทำงานที่มีศักยภาพและมีพลังเต็มเปี่ยมไปก็เป็นได้
นอกจากนี้ การเข้ามาเป็นกำลังหลักหมายความว่ากำลังซื้อจะไหลมาอยู่กับกลุ่ม Millennials มากขึ้น โอกาสของสินค้าและบริการในหมวดธุรกิจดิจิตอลจะเติบโต สอดคล้องกับการที่ Millennials เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมดิจิตอล
2. ประชากรกลุ่ม Baby Boomers กำลังจะรีไทร์
Baby Boomers กำลังจะต้องถอยออกจากสังคมการทำงานทีละนิด คนที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มนี้คือคนที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเหลือเวลา 4 ปีในสังคมการทำงาน เห็นได้ชัดเจนว่า Boomers ทั้งรุ่นจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากรุ่นเก๋าในที่ทำงานไปสู่คนวัยเกษียณอย่างเต็มรูปแบบ
ถึงแม้สัดส่วนของคนหนุ่มสาวในที่ทำงานเพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นเพราะ Boomers ถอยออกมาจากที่ทำงาน ไม่ได้เป็นเพราะ Millennials มีจำนวนมากขึ้น สังคมโดยรวมกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ไม่ช้าก็เร็ว
ในประเทศที่สวัสดิการเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ไม่ดีนัก เราอาจจะพบบรรยากาศของชีวิตการทำงานที่ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นเพราะคนหนุ่มสาวจะต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยและชีวิตหลังเกษียณก็จะมีโอกาสมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการท่องเที่ยวระยะยาว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บริการด้านสุขภาพ จากลูกค้าเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น
3. ผู้หญิงมีบทบาทหลักในสังคม
อีกหนึ่งประเด็นที่เห็นได้ชัดมากในสังคมปัจจุบันก็คือการที่ ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่กดทับไว้ พวกเธอมีจำนวนมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น มีตำแหน่งในอาชีพที่สำคัญมากขึ้น และมีอำนาจต่อรองที่มากยิ่งขึ้น
เราพบว่า บทบาทของผู้หญิงนั้นแข็งแกร่งขึ้นทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาและการทำงานได้มากขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2018 ผู้หญิงเรียนจบชั้นปริญญาตรีมากกว่าผู้ชาย
?The BBC 100 Women list 2020 is out! ?
https://t.co/CXtid9fjGG#BBC100Women— BBC 100 Women (@BBC100women) November 24, 2020
ความเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิสตรีมาแรงมากในปัจจุบัน ตั้งแต่ความเคลื่อนไหวระดับโลกในทวิตเตอร์อย่าง #metoo การต่อต้านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในไทย ไปจนถึงการที่ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และ อื่นๆ แต่งตั้งผู้หญิงให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้เป็นจำนวนมาก ฉีกภาพเดิมๆ ที่มักจะมีแต่ผู้ชายที่ได้ดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี
- BBC 100 Women: รุ้ง ปนัสยา-ซินดี้-กชกร วรอาคม 3 หญิงไทยติดอันดับผู้นำความเปลี่ยนแปลง
- ไบเดนเปิดตัวทีมสื่อสารหญิงล้วน และทีมเศรษฐกิจที่มีผู้หญิงเป็นหลัก ส่วนหนึ่งใน “สส. หญิงที่อายุน้อยที่สุด” เต็งนั่ง รมว. แรงงาน
เมื่อผู้หญิงได้มีบทบาทในสังคมการทำงานมากยิ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดย่อมทำให้สังคมการทำงานที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมของเพศชายเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย
เราจะได้เห็นที่ทำงานจะเป็นมิตรต่อผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ประเด็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานจะถูกทำให้หายไป พฤติกรรมที่เคยถูกเชื่อว่าเป็นการเย้าหยอกผู้หญิงจะเป็นเรื่องผิด เส้นทางสู่ตำแหน่งสูงๆ ในที่ทำงานจะยุติธรรมต่อเพศหญิงมากยิ่งขึ้น สวัสดิการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร เช่น การลาคลอดของคุณพ่อและคุณแม่ และค่าเลี้ยงดูบุตรจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นในที่ทำงาน
4. เข้าสู่ยุคสังคมเมืองเต็มรูปแบบ
ความเปลี่ยนแปลงด้านการขยายตัวของเมืองจะเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นมาสักพักแล้ว แต่ในปี 2020 Worldometers ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นปีแรกที่ประชากรในเขตเมืองของไทย (51% ของประชากร) มากกว่าชนบท (49% ของประชากร)
สิ่งที่น่าจับตาคือ การพัฒนาความเป็นเมืองถูกเร่งเร้ามากยิ่งขึ้นจากการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจดิจิตอล ทำให้อุตสาหกรรมเคลื่อนไปสู่การใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 ได้เร่งให้ประเทศเคลื่อนสู่ความเป็นดิจิตอลอย่างเร่งด่วน จากเดิมที่ทำนายกันว่าเศรษฐกิจจะถูกทำให้เป็นดิจิตอลภายใน 5-10 ปีหลังจากนี้
สังคมการทำงานในเมืองกำลังจะเปลี่ยนรูปไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติโควิดครั้งนี้ คนทำงานจะถูกทำให้กลายเป็น Digital Native มากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ก็พยายามปรับตัวเข้าหาเศรษฐกิจดิจิตอลมากยิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะมีความคล่องตัว รวดเร็ว และสะดวกกว่า
นอกจากนี้ สังคมการทำงานที่เทคโนโลยีสามารถทำงานแทนมนุษย์ โดยเฉพาะที่เป็นงานไม่อาศัยทักษะได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แรงงานมีฝีมือ (skilled labour) มีความจำเป็นมากขึ้น ส่วนงานที่ไม่อาศัยทักษะก็จะยิ่งหายไปเรื่อยๆ แนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นในสังคมเมืองก่อนเป็นอันดับแรก
ธุรกิจที่อำนวยความสะดวกให้กับการทำงานในเศรษฐกิจดิจิตอลก็จะมีโอกาสสูงในสังคมเมืองแบบใหม่ เช่น บริการขนส่งอาหารหรือไปรษณีย์ก็ล้วนแต่มีบริการรับส่งของจากบ้าน การซื้อขายก็ต้องเกิดขึ้นในช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีการพัฒนาโปรแกรมที่อำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานแบบทีมจากที่บ้าน
สรุป
โครงสร้างประชากรจะปรับเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลในเชิงปริมาณ คนหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นสวนทางคนสูงวัยที่ลดจำนวนลงในสังคมการทำงาน ผู้หญิงมีจำนวนมากขึ้นพร้อมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญมากขึ้น และจำนวนคนเมืองที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 ทำให้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่ได้กล่าวมาแล้ว ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะโควิด-19 ผลักให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมแบบดิจิตอลมากขึ้นที่ช่วยทำให้บทบาทของคนหนุ่มสาว ผู้หญิง และคนเมืองเพิ่มสูงขึ้นในเชิงคุณภาพอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
จากเดิมที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมแบบดิจิตอลจะเกิดขึ้นภายใน 5-10 ปี มาวันนี้ เรากำลังจะได้เห็นกับตาในเวลาภายในเวลาเพียงแค่ปีกว่าเท่านั้น
ที่มา – CompareCamp, Quartz, Catalyst, Pew Research Center (1) (2), Worldometer (1) (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา