ห้างสรรพสินค้าสู้กับ E-Commerce อย่างไร ในวันที่คนไทยรอ 12.12 มากกว่า Midnight Sale

ถ้าพูดถึงคำว่าช็อปปิ้ง เมื่อสิบกว่าปีก่อนเราคงต้องนึกถึง “ห้างสรรพสินค้า” ในฐานะสถานที่ซื้อของกิน ของใช้ เสื้อผ้า หรือแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนของคนในครอบครัวที่มักออกมาใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้าในช่วงวันหยุด แต่ตอนนี้คนคงนึกถึงคำว่า E-Commerce กันมากขึ้น

e-commerce

จนในช่วงที่ห้างสรรพสินค้ารุ่งเรืองถึงขีดสุด ห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่ง ต่างแข่งกันออกโปรโมชันเพื่อลดราคาสินค้าของตัวเอง โดยเฉพาะ Midnight Sale หรือ Midyear Sale ที่กลายเป็นกระแสในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่โลกของ E-Commerce จะกลายเป็นกระแสหลักเหมือนในปัจจุบัน

แต่ในโลกยุคปัจจุบันผู้บริโภคเปลี่ยนวิธีในการช็อปปิ้ง จากเดิมที่เคยใช้ห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่สำหรับเลือกซื้อของ เปลี่ยนเป็นการช็อปปิ้งซื้อของผ่านเว็บไซต์ E-Commerce แทน โดยมีเหตุผลเรื่องความสะดวก รวดเร็ว มีสินค้าให้เลือกมากกว่าโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางออกไปที่ห้างสรรพสินค้าอีกต่อไป แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดกลับเป็นเรื่องของราคา ที่เว็บไซต์ E-Commerce มักมีราคาสินค้าที่ถูกกว่า รวมถึงการจัดโปรโมชันที่มากกว่าด้วย

จนในช่วงหลังๆ Midnight Sale ของห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ไม่สามารถสู้เทศกาลลดราคาในวันต่างๆ ของแต่ละเดือนได้ เช่น 11.11 และ 12.12 ที่ทำลายสถิติยอดขายใหม่ๆ อยู่ทุกปี แถมในท้ายที่สุดห้างสรรพสินค้ายังจำเป็นต้องจัดเทศกาลลดลราคาในช่วงเวลาเดียวกับที่เว็บไซต์ E-Commerce เช่นเดียวกัน อย่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ก็จัดเทศกาลลดราคาตั้งแต่ 9.9 ยาวไปจนถึง 12.12 ที่ผ่านมา เพื่อแข่งขันกับ E-Commerce ที่นับวันจะกินส่วนแบ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าทางฝั่งห้างสรรพสินค้าคงไม่สามารถอยู่เฉยๆ แล้วรอวันให้ E-Commerce ครองส่วนแบ่งไปมากกว่านี้ ห้างสรรพสินค้าก็ต้องมีวิธีในการแข่งขันเพื่อสู้กลับโดยใช้ความได้เปรียบที่มีอยู่เดิมของตัวเองเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้

ช็อปปิ้งออนไลน์ แต่ห้างสรรพสินค้าก็ต้องทำได้

ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในไทย ที่เรามักนึงถึงคงหนีไม่พ้น เซ็นทรัล และเดอะมอลล์ ซึ่งก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าทั้งสองห้างย่อมได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคจำนวนมากเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปซื้อของผ่านทางเว็บไซต์ E-Commerce เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองห้างจึงต้องมีการหันไปเข้าถึงลูกค้าผ่านทางช่องทาง E-Commerce เช่นกัน

e-commerce
ภาพจาก Mcardshop.com

เดอะมอลล์ M Chat & Shop

ห้างสรรพสินค้าเครือเดอะมอลล์ แม้จะไม่ได้ทำแอปพลิเคชันสำหรับช็อปปิ้งแบบเดียวกับแอปพลิเคชัน E-Commerce โดยตรง แต่เดอะมอลล์ มีช่องทางการซื้อของออนไลน์ของตัวเองบนเว็บไซต์ Mcardshop.com และสามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยบริการ M Chat & Shop ได้ โดยเป็นบริการที่ให้ลูกค้าสามารถส่งข้อความเพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ผ่าน LINE @Mcardshop

บริการ M Chat & Shop นับว่ามีความน่าสนใจ เพราะเป็นช่องทางที่คนไทยคุ้นเคย จากการซื้อสินค้าผ่าน “พ่อค้าแม่ค้า” บน Social Media ต่างๆ เช่น Facebook หรือ Instagram ที่จะเน้นการส่งข้อความไปหาพ่อค้าแม่ค้า แล้วสอบถามรายละเอียด เช่น ราคา และการจัดส่ง การส่งข้อความจึงอาจมีความง่ายมากกว่าการค้นหารายการสินค้าจำนวนมากจากเว็บไซต์ E-Commerce และรู้ทันทีว่ามีของพร้อมจัดส่งหรือไม่

e-commerce
ภาพจากแอปพลิเคชัน Central

เซ็นทรัล Central App

ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ คือ การมีช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าที่หลายกว่า ทั้งเว็บไซต์ของร้านค้าในเครือ เช่น Robinson, Tops, Supersport, Powerbuy และแอปพลิเคชัน Central App ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานก่อนหน้านี้ โดยเซ็นทรัลเคลมจุดเด่นของ Central App ว่า เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมสินค้าทั้งหมดภายในเครือเซ็นทรัล และมีแบรนด์พิเศษที่ไม่เคยมีสินค้าขายบนเว็บไซต์ E-Commerce อื่นๆ มาก่อน รวมแล้วทั้งสิ้น 5,000 แบรนด์

ในช่วงที่ผ่านมาเซ็นทรัล ก็ได้จัดโปรโมชันในช่วงเทศกาลช็อปปิ้งช่วงสิ้นปีอย่าง 12.12 เช่นเดียวกันกับเว็บไซต์ E-Commerce อื่นๆ แต่เซ็นทรัลก็ต้องการสร้างจุดเด่นด้วยการลดราคาในช่วง 12.12 นอกเหนือจากแอปพลิเคชัน แต่ยังลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลไปพร้อมๆ กันด้วย จึงเป็นการใช้ข้อได้เปรียบของความเป็นห้างสรรพสินค้าที่ถึงอย่างไรแล้ว ก็ยังคงมีคนอีกไม่น้อยที่อยากเข้าไปจับสินค้าจริงๆ ที่ห้างสรรพสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และหากที่ห้างสรรพสินค้ามีโปรโมชันแบบเดียวกับออนไลน์ ก็จะทำให้ตัดสินใจซื้อของชิ้นนั้นได้ง่ายขึ้น

ห้างสรรพสินค้า จะสู้กับ E-Commerce ได้จริงหรือ?

เมื่อห้างสรรพสินค้าไม่ได้อยู่เฉยต่อกระแสการช็อปปิ้งบนเว็บไซต์ E-Commerce แต่สู้กลับด้วยการใช้จุดแข็งของความเป็นห้างสรรพสินค้าแบบเดิมๆ ด้วยสินค้าหลากหลายแบรนด์ ได้เห็นสินค้าจริงก่อน รวมถึงจัดโปรโมชันพร้อมๆ กัน ทั้งบนเว็บไซต์ และที่หน้าร้านในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้าจะสู้ E-Commerce ได้หรือไม่ สิ่งที่จะสามารถตัดสินได้ง่ายที่สุด ก็คงต้องเป็นปัจจัยด้าน “ราคา” เช่นเดิม หากสินค้าที่จำหน่ายในช่องทางไหนมีราคาถูกกว่า ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อที่ช่องทางนั้น แม้จะไม่เคยใช้งานมาก่อนก็ตาม เพราะที่ผ่านมาเคยมีการพูดถึงความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ที่พบว่าคนในปัจจุบันมีความภักดีต่อแบรนด์ที่น้อยลง ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์เดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

เมื่อ “ราคา” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอันดับแรก การที่ห้างสรรพสินค้าจะต่อสู้กับ E-Commerce ให้ได้ จึงกลายเป็นเรื่องของการแข่งขันกันจัดโปรโมชันลดราคาให้มากกว่าคู่แข่ง

e-commerce
ภาพจาก Lazada และ Shopee

ที่ผ่านมาเว็บไซต์ E-Commerce รายใหญ่ในไทย มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในทุกๆ เดือน ที่มีการจัดเทศกาลลดราคา เช่น 9.9, 10.10, 11.11 และ 12.12 เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าด้วยการแจกโค้ดส่วนลดเพิ่มเติมจากที่ร้านค้าเป็นผู้ลดราคา หรือในอีกทางหนึ่งก็คือ E-Commerce ต้องเป็นฝ่ายที่ช่วยสนับสนุนเงินในการจัดโปรโมชัน และโค้ดส่วนลดให้กับร้านค้าที่นำสินค้ามาขาย เพราะอย่าลืมว่าร้านค้าคงไม่สามารถลดราคาจนกำไรหดหายได้

หากอยากให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าบนช่องทางของตัวเองก็ต้องออกโค้ดส่วนลดและโปรโมชันให้ราคาสินค้าถูกกว่าคู่แข่งให้ได้ จึงเป็นเหมือนการวัดใจว่า ฝ่ายห้างสรรพสินค้า จะกล้าทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อทำให้ราคาสินค้าของตัวเองถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็น E-Commerce หรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า E-Commerce เจ้าใหญ่ในไทย ทั้ง Lazada, Shopee, และ JD Central ต่างมีบริษัทแม่จากต่างประเทศ ที่สามารถสร้างกำไรจำนวนมาก จนสามารถนำเงินมาทุ่มกับการทำตลาดในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา