ในช่วงสิ้นปี กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่นิยมทำ คือการตั้ง “ปณิธานปีใหม่” สำหรับอีก 1 ปีข้างหน้า
Brand Inside จึงขอพาไปเรียนรู้เคล็ดลับ “การตั้งเป้าหมาย” ของ CEO ระดับโลกหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จอบส์, บิล เกตส์, ริชาร์ด แบรนสัน, เรย์ ดาลิโอ, วอเรนต์ บัฟเฟต์, อีลอน มัสก์ และ แจ็ค หม่า
เริ่มต้นด้วย บิล เกตส์
“การเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเรียนรู้จากความล้มเหลว”
บิล เกตส์ มักจะไม่ได้ตั้งปณิธานปีใหม่ แต่เขาจะคิดทบทวนถึงเรื่องราวในปีที่ผ่านมา และตกตะกอนกับตัวเองว่า “อะไรคือความสำเร็จที่ใหญ่ที่สุดของปีนั้น” และ “อะไรที่เขาสามารถทำให้ดีกว่าเดิม” ได้บ้าง
เขาแนะนำให้ใช้ OKR ในการตั้งเป้าหมาย และเลือกผลลัพธ์หลักที่ต้องการแค่ 3-5 อย่างเท่านั้น เพื่อให้เราสามารถโฟกัสได้จริงๆ นอกจากนี้ อย่ากลัวที่จะตั้งเป้าหมายใหญ่ เพราะเราสำเร็จตามเป้าหมายได้ 70% ก็เพียงพอแล้ว ที่สำคัญ เมื่อตั้ง OKR เราก็จะสามารถปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ตรงกับเป้าหมายเราได้ดียิ่งขึ้น
เขาเล่าว่า OKR ยังช่วยให้บริษัทของเขาเติบโตขึ้น 10 เท่า และช่วยให้พันธกิจอันยิ่งใหญ่ของไมโครซอฟท์ คือ “จัดการข้อมูลมหาศาลของโลก” สำเร็จได้ ดังนั้น เขาจึงมองว่า OKR เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ความคิดฟุ้งๆ เกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ เมลินดา เกตส์ ภรรยาของบิลเกตส์ ก็ไม่ได้เชื่อในเรื่องของ “การตั้งปนิธานปีใหม่” แต่เธอเชื่อใน”การตั้งคำศัพท์ประจำปี” เพื่อกำหนดทิศทางของการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ในปีนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ในหลายปีก่อนคำศัพท์ประจำปีของเธอ คือ “ความอ่อนโยน” ทำให้ในปีนั้นเธอสามารถรับมือกับการเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบของตัวเองได้ดีขึ้น เป็นต้น
เรย์ ดาลิโอ
“ถ้าคุณไม่ได้นั่งทบทวนตัวเองและคิดว่าปีที่แล้วตัวเอง ‘โง่เขลา’ อย่างไรบ้าง ก็นับได้ว่าคุณไม่ได้เรียนรู้มากเท่าที่ควร”
เรย์ ดาลิโอ เล่าในหนังสือ Principles ว่า “ชีวิตก็เหมือนอาหารบุฟเฟ่ต์ชุดใหญ่ที่มีทางเลือกน่าเอร็ดอร่อยให้ลิ้มลองมากมาย” อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทางเลือกหลากหลาย เราก็ควรเลือกทางที่คุ้มค่าและมีประโยชน์ที่สุด เพราะการเลือกทางเลือกหนึ่งก็เหมือนเป็นการปฏิเสธทางเลือกอื่นไปในตัว
ปัญหาคือคนส่วนใหญ่มักกลัวที่จะทิ้งทางเลือกหนึ่งเพื่อไปหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่า และพวกเขาก็เลือกทำหลายเป้าหมายแทนที่จะ “โฟกัส” เพียงไม่กี่เป้าหมายที่สำคัญกว่า
เขาเล่าว่า “เป้าหมาย” กับ “ความปรารถนา” เป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป้าหมายคือสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ แต่ความปรารถนามีแนวโน้มที่จะมาขัดขวางการไปสู่เป้าหมายของเรา เช่น เป้าหมายคือการมีรูปร่างดี แต่ความปรารถนาคือการอยากทานของอร่อยซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ตั้งเป้าหมายให้สูงเข้าไว้” เขาย้ำว่า “ยิ่งเป้าหมายใหญ่ก็ยิ่งขยายกรอบความสามารถของเราให้ใหญ่ตามไปด้วย” ถ้าเราจำกัดการตั้งเป้าหมายของตัวเอง เราก็จะตั้งเป้าหมายต่ำเกินไป
แจ็ค หม่า
“ผู้คนไม่ได้ขาดแคลนเงิน แต่ขาดแคลนความพยายามถึงขั้นยอมตายเพื่อความฝันมากกว่า”
ระหว่างทางไปสู่เป้าหมาย แจ็ค หม่า แนะนำให้ลองตั้งคำถามกับตัวเอง 3 ข้อ คือ 1.ตอนนี้เรามีอะไรอยู่แล้วบ้าง 2.เราต้องการอะไรเพิ่มเติม 3.เราต้องเลิกนิสัยหริอพฤติกรรมอะไรเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าสู่เป้าหมายได้โดยไม่รู้สึกหลงทาง
เขาเล่าว่า สตาร์ทอัพเกิดใหม่หลายๆ เจ้ามักจะล้มหายตายจากไปหลังจากระดมทุนได้เพียง 20 เดือน เพราะพวกเขาไม่สามารถโฟกัสส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ ซึ่งความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายอะไรก็ตาม เราก็ควรจะทุ่มเทจนกว่าจะประสบความสำเร็จ
คำสอนที่สำคัญของแจ็ค หม่า คือ “อย่าคิดวางแผนให้ตัวเองประสบความสำเร็จใน 1 ปีข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ให้วางแผนเพื่อประสบความสำเร็จในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย“
วอเรนต์ บัฟเฟต์
“ผมรู้เสมอว่าผมจะรวยและผมไม่เคยสงสัยในเป้าหมายของตัวเองเลยสักครั้ง”
วอเรนต์ บัฟเฟต์ แนะนำให้ ลิสต์เป้าหมายที่ต้องการมาทั้งหมด 25 ข้อ จากนั้นให้ เลือกเป้าหมายที่คิดว่าสำคัญที่สุดออกมาเพียง 5 ข้อ เพราะถ้าเราไม่แบ่งเป้าหมายตามนี้ เราก็จะมัวเสียเวลาทำแต่ 20 เป้าหมายที่ไม่สำคัญ ทำให้เป้าหมายหลักทั้ง 5 ข้อของเรายากที่จะสำเร็จ ดังนั้น เขาจึงแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องทำ 20 เป้าหมายที่เหลือ เพราะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ ทั้งนี้ วิธีการนี้ไม่ได้ใช้สำหรับเป้าหมายรายปีเท่านั้น แต่ยังใช้กับ “เป้าหมายรายสัปดาห์” ได้อีกด้วย
อีลอน มัสก์
“การล้มเหลวเป็นแค่ทางเลือก ถ้าไม่ล้มเหลวแปลว่ายังไม่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ มากพอ”
สาเหตุสำคัญที่ผู้คนไม่ยอมตั้งเป้าหมายใหญ่คือ กลัวที่จะล้มเหลว จริงอยู่ที่ว่าเราจะไม่ล้มเหลวถ้าเราตั้งเป้าหมายให้ต่ำเข้าไว้ แต่การทำเป้าหมายใหญ่ให้สำเร็จได้นั้นสำคัญยิ่งกว่า
ในความเป็นจริงแล้ว ความล้มเหลวจะช่วยหล่อหลอมให้เราเติบโต ดังนั้น เราควรอนุญาตให้ตัวเองล้มเหลว และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
สตีฟ จอบส์
“การเป็นคนรวยที่สุดในโลกไม่สำคัญสำหรับผม แต่การเข้านอนและสามารถพูดได้ว่า ตัวเองได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลกต่างหากที่สำคัญมากกว่า”
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายสำคัญของ สตีฟ จอบส์ คือการเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างประโยชน์ให้สังคม โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่าย สวยงาม และมอบคุณค่าให้กับโลกใบนี้
เขาเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสำหรับสตีฟ จอบส์ “เป้าหมายระยะยาว” ช่วยกำหนดทิศทางในชีวิตให้ชัดเจน แต่ “เป้าหมายระยะสั้น” จะช่วยให้โฟกัสและไม่หลุดจากเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั่นเอง
ริชาร์ด แบรนสัน
“ถ้าคุณตั้งเป้าหมายรายวันและทำได้สำเร็จทุกวัน คุณจะรู้สึกดีกับตัวเองและมีพลังทำเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม”
ริชาร์ด แบรนสัน เป็นนักธุรกิจที่คิดนอกกรอบมากๆ คนหนึ่ง เขามักจะ จดไอเดียสร้างสรรค์ลงบนกระดาษ และทำให้ไอเดียต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง
เขาจึงแนะนำว่า ให้เรา “จด” ปณิธานปีใหม่ลงบนกระดาษ เพราะผลการวิจัยระบุว่า การจดจะช่วยให้เรามีแนวโน้มสำเร็จตามเป้าหมายมากขึ้น 42% และการเล่าเป้าหมายให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวฟังก็จะช่วยให้เรามุ่งมั่นทำเป้าหมายนั้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ เขายังแนะนำให้ตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะเขาเชื่อว่า การทยอยทำเป้าหมายระยะสั้นให้สำเร็จจะช่วยให้มีแรงบันดาลใจไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นเอง
ที่มา : CNBC 1, CNBC 2, CNBC 3, medium 1, medium 2, linkedin, goalcast, jamesclear, investmentnews, wanderlustworker
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา