ข่าวที่คนทั่วโลกต่างจับตามองในช่วงเวลานี้ คือ การคิดค้นวัคซีนที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ วัคซีนบางตัวก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้จริงแล้ว ทำให้เกิดการมองภาพในอนาคตว่าโลกกำลังจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เหมือนก่อนโควิด-19 จะระบาด
แต่ความจริงแล้วการหวังให้โลกกลับเข้าสู่สภาวะปกติทันที่ที่มีวัคซีนคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะอย่าลืมว่าในระยะแรกวัคซีนที่ผลิตได้อาจมีปริมาณไม่เพียงพอกับประชากรโลกทั้งหมด จึงต้องมีการแบ่งกลุ่มของประชากรที่จะได้รับวัคซีนก่อนหลัง ตามลำดับความสำคัญ ซึ่งกลุ่มประชากรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนกลุ่มท้ายๆ คือ กลุ่มคนที่มีอายุน้อย และมีสุขภาพแข็งแรง โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าคนกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนในช่วงฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ร่วง
ประชากรโลก 25% หรือเกือบ 2 พันล้านคน ต้องรอวัคซีนจนถึงปี 2022
ส่วนในประเทศอื่นๆ อาจไม่ได้โชคดีเท่าประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะในขณะนี้เหล่าประเทศที่รำ่รวยต่างสั่งจองวัคซีนล่วงหน้ากันไปหมดแล้ว ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าประชากรราว 1 ใน 4 ของโลก จะต้องรอวัคซีนโควิด-19 ต่อไป จนถึงปี 2022
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 จะได้รับการอนุมัติ มีประเทศที่ร่ำรวยสั่งจองวัคซีนไปแล้ว 7.48 พันล้านโดส สำหรับประชากร 3.76 พันล้านคน (1 คน ต้องฉีด 2 โดส) แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวัคซีนที่สั่งจองไปจะใช้ได้ผล และมีประสิทธิภาพในการป้องกันจริงๆ หรือไม่
แต่ในความจริงแล้วแม้วัคซีนจะถูกสั่งจองไปใช้สำหรับประเทศที่มีฐานะร่ำรวย แต่อย่าลืมว่ากว่า 85% ของประชากรโลก เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน-ปานกลาง
Anthony So ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins School of Public Health แนะนำว่า หากเรายังไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกได้ การค้า และการเดินทางคงไม่สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นับว่ายังมีความโชคดีอยู่บ้างที่มีหน่วยงานหลายแห่งกำลังพยายามที่จะแก้ไขปัญหา และช่วยให้ประเทศที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่าง Covax Facility ก็กำลังระดมทุนราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการซื้อวัคซีนสำหรับคนราวๆ 500 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข และกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมาก
ไม่ใช่แค่การพัฒนา แต่ทุกขั้นตอนมีความยากและต้องใช้เงิน
แต่ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการใช้เงินสั่งจองวัคซีนคือ การพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน และจะทำอย่างไรเพื่อผลิตวัคซีนนั้นในปริมาณมาก รวมถึงเมื่อพัฒนาวัคซีนได้แล้ว อีกสิ่งที่ต้องคำนึงคือการขนส่งวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ เพราะวัคซีนโควิด-19 บางชนิด ต้องใช้อุณหภูมิในการจัดเก็บที่ต่ำมาก ซึ่ง Oxfam และ Doctors Without Borders กำลังเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนแบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองให้กับผู้ผลิตรายอื่นๆ
เพราะกระบวนการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลาในการพัฒนา การเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ปริมาณมาก รวมถึงต้องใช้เงินอย่างมากในการสร้างโรงงาน การจัดหาขวดบรรจุวัคซีน และกระบวนการขนส่งวัคซีน ทุกส่วนมีความยากเหมือนกันหมด
ที่มา – Fastcompany
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา