McKinsey ชี้ ศักยภาพ Work from Home สะท้อนความพร้อมของประเทศ

ตลอดช่วงปี 2563 หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานภายในองค์ให้สามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากระยะไกล (remote work) ให้ได้มากขึ้น แต่ผลจากการศึกษาของ McKinsey ชี้ว่าศักยภาพในการ work from home ของแรงงานในประเทศอาจสะท้อนถึงความสามารถด้านอื่นๆ ของประเทศ

India IT

ผลการศึกษาจาก McKinsey Global Institute หรือ MGI เกี่ยวกับการทำงานระยะไกลหรือ remote work เผยว่า รูปแบบการทำงานจากที่บ้านหรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศเป็นตัวย้ำให้เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงสังคมได้มากขึ้น

โดยระบุว่าศักยภาพของการทำงานจากสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศนั้นจะมีประสิทธิภาพมากในกลุ่มอาชีพของแรงงานที่มีทักษะและระดับการศึกษาสูง ทั้งยังกระจุกอยู่แค่ในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเงิน ประกันภัย การจัดการ การให้บริการทางธุรกิจ การจัดการข้อมูล และกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที ซึ่งเป็นงานภาคบริการและชัดเจนว่าแรงงานในกลุ่มนี้จะต้องมีการศึกษาสูงในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าตอบแทนสูง

นอกจากนี้หากมองในเชิงเศรษฐกิจมหภาค ความสามารถและศักยภาพในการเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศเป็นการทำงานจากสถานที่อื่นนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งแสดงในเห็นถึงการพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน

Work From Home

ประเทศพัฒนาแล้วมีศักยภาพในการทำงานจากระยะไกลมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

การศึกษาของ McKinsey ใน 9 ประเทศกลุ่มตัวอย่าง คือ อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สเปน เม็กซิโก จีน อินเดีย พบว่าประเทศพัฒนาแล้วจะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจากการทำงานในออฟฟิศไปเป็นการทำงานจากระยะไกลหรือสถานที่อื่นได้มากกว่า

อีกทั้งสัดส่วนเวลาที่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพโดยไม่เสีย productivity ก็มีค่อนข้างสูง คือร้อยละ 28-30 ของเวลาในการทำงาน

  • อังกฤษ 33%
  • เยอรมัน 30%
  • ญี่ปุ่น 29%
  • ฝรั่งเศส 28%
  • สเปน 26%

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนานั้นสามารถรักษาประสิทธิภาพการทำงานโดยไม่เสีย productivity ไว้ได้แค่ 12-26% ของระยะเวลาการทำงาน

  • จีน 16%
  • อินเดีย 12%
  • และเม็กซิโก 18%

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถรักษาประสิทธิภาพในการทำงานได้น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วเป็นเพราะว่าลักษณะการจ้างงานของประเทศกำลังพัฒนาเป็นการทำงานแบบเน้นใช้แรงงานและพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีน้อยกว่า เช่น การจ้างงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต

เมื่อนำข้อมูลจากการศึกษาของ McKinsey มาขยายต่อจะพบว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของ remote work คือโครงสร้างและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งดูได้จากสัดส่วนการจ้างงานและมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ

ภาพจาก Shutterstock

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

อังกฤษ

มีการจ้างงานในภาคการเกษตรแค่ 1% จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในระบบสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 0.6% ของ GDP ประเทศ (ครอบคลุม 60% ของความต้องการอาหารของทั้งประเทศ) ภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างงาน 17.7% ของแรงงานทั้งหมดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 17.4% ของ GDP ขณะที่ภาคการบริการซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษมีการจ้างงานอยู่ที่ 81.3% ของแรงงานทั้งหมดและสร้างมูลค่าเพิ่มในสัดส่วน 71.3% ของ GDP

สหรัฐอเมริกา

เป็นประเทศที่มี productivity สูง มีการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภาคการเกษตรมีสัดส่วนแรงงาน 1.3% ของแรงงานทั้งหมด มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคือ 0.9% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแรงงาน 19.7% ของแรงงานทั้งหมดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่ากับ 18.2% ของ GDP ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนแรงงาน 79% ของแรงงานมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 77.4% ของ GDP

ญี่ปุ่น

ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตร 3.4% ของแรงงานทั้งหมดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 1.2% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแรงงาน 24.1% ของแรงงานทั้งหมดมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่ากับ 29.1% ของ GDP ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนแรงงาน 72.6% ของแรงงานมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 69.3% ของ GDP

Source: Brand Inside

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เม็กซิโก

ภาคการเกษตรมีสัดส่วนแรงงาน 12.4% ของแรงงานทั้งหมด มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคือ 3.5% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแรงงาน 26.2% ของแรงงานทั้งหมดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่ากับ 30.1% ของ GDP ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนแรงงาน 61.4% ของแรงงานมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 60.5% ของ GDP

อินเดีย

ประเทศที่ภาคการเกษตรมีความสำคัญเป็นอันดับที่สี่ของโลก ภาคการเกษตรมีสัดส่วนแรงงาน 41.5% ของแรงงานทั้งหมด มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคือ 16% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแรงงาน 26.2% ของแรงงานทั้งหมดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่ากับ 24.9% ของ GDP ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนแรงงาน 32.2% ของแรงงานมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 49.9% ของ GDP (ภาคบริการของอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วจากเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟแวร์ ไอที และการให้บริการในอุตสาหกรรมการเงิน)

จีน

เศรษฐกิจของจีนพึ่งพาด้านการเกษตรและภาคการผลิตเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมีจำนวนประชากรเยอะทำให้กลายเป็นตลาดที่มีผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนแรงงาน 24.7% ของแรงงานทั้งหมด มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคือ 7.1% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแรงงาน 28.2 % ของแรงงานทั้งหมดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่ากับ 39% ของ GDP ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนแรงงาน 47.1% ของแรงงานมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 53.9% ของ GDP

ไทย

เป็นประเทศพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลักมีสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตร 31.2% ของแรงงานทั้งหมด มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจคือ 8% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนแรงงาน 22.5 % ของแรงงานทั้งหมดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่ากับ 33.4% ของ GDP ส่วนภาคบริการมีสัดส่วนแรงงาน 46.3% ของแรงงานมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 58.6% ของ GDP (ซึ่งส่วนใหญ่ภาคบริการของไทยมาจากการท่องเที่ยว)

ชาวนา เกษตรกรไทย
ภาพจาก Shutterstock

จะเห็นว่าในประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อยต่างจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีแรงงานในภาคการเกษตรค่อนข้างสูงแต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้น้อย เมื่อเกิดการระบาดของโรคหรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานทำให้ประชากรกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับรูปแบบการทำงานโดยไม่กระทบกับศักยภาพของงานได้เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อินเดียที่แรงงานส่วนใหญ่ (ประมาณ 464 ล้านคน) ทำงานในภาคการเกษตรและการให้บริการในธุรกิจค้าปลีกซึ่งไม่สามารถทำงานจากระยะไกลได้

ไม่ใช่แค่โครงสร้างทางเศรษฐกิจแต่ความสามารถด้านเทคโนโลยีและ Digital Infrastructure ของประเทศก็มีผลเช่นกัน

ระดับความสามารถหรือพัฒนาการทางเทคโนโลยีของประเทศเองก็มีผลต่อประสิทธิภาพการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเช่นกัน

ถ้าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีสูงก็สามารถสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สัดส่วนจำนวนแรงงานที่เยอะเกินไป ลดปริมาณงาน manual-based เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานก็จะทำให้แรงงานยังสามารถคงผลิตภาพในการทำงานเอาไว้ได้ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ สัดส่วนการจ้างงานในแต่ละ sector และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่นกัน

นอกจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความสามารถด้านเทคโนโลยีของประเทศแล้ว โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เอื้อต่อการทำงานระยะไกลหรือ remote work เองก็มีผลต่อศักยภาพการทำงานเช่นกัน และยังเป็นอุปสรรคและข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบ remote work ด้วย

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลจาก Internet World Stats จากการเก็บข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2020 พบว่า ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกามีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 95.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (312,322,257 คน) ฝรั่งเศส 92% เยอรมัน 96% สเปน 92.5% อังกฤษ 94.9% ญี่ปุ่น 93.8% เกาหลีใต้ 96% ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง จีนมีสัดส่วนประชาการที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 59.3% (854,000,000 คน) อินเดีย 40.6% (560,000,000 คน) และ Mexico 65% (85,000,000 คน)

ส่วนประเทศในแถบอาเซียนมีสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตคือ ไทย 81.7% เวียดนาม 70.4% สิงคโปร์ 88.4% มาเลเซีย 81.4% ไต้หวัน 92.6% อินโดนีเซีย 62.6% ตามลำดับ

สรุป

ปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพและการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเป็นการทำงานแบบ remote work

  • โครงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ
  • ระดับความสามารถทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีระดับสูง
  • ความพร้อมด้าน Digital Infrastructure

Ref:(1)(2)(3)(4)(5)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา