สรุปตลาดอสังหาฯ ปี 2563 อนาคตไม่สดใส: ห้วยขวาง-บางนา-สวนหลวง พื้นที่เสี่ยงบ้านล้นตลาด

อสังหาริมทรัพย์นับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักหน่วง จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และความมั่นใจในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคน

ภาพจาก Shutterstock

DDproperty เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการสรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยประจำปี 2563 ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ที่ทำให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว

กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ DDproperty ในเครือ PropertyGuru Group เล่าถึงสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ในปี 2563 ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยยังคงลดลง

สำหรับแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยยังคงลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 แต่ในช่วงหลังจากการคลายล็อคดาวน์แล้วราคาจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% แต่ในปีนี้ราคาที่อยู่อาศัยยังถือว่าปรับตัวลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยที่ลดลงนี้เกิดจาก กำลังซื้อที่ลดลง และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามเคลียร์สต็อก ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เมื่อดูภาพรวมของราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในระยะยาว 5 ปี มีการเติบโตถึง 55%

เมื่อแยกตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่าแนวโน้มของราคาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมมีการปรับตัวลดลงถึง 6% ในขณะที่บ้านเดี่ยวเติบโตขึ้น 7% และทาวน์เฮาส์ที่เติบโตคงที่ที่ 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุที่ทำให้คอนโดมิเนียมมีราคาที่ลดลง เนื่องจากการชะลอการซื้อคอนโดมิเนียม เพราะรถไฟฟ้ากระจายตัวไปทั่วกรุงเทพฯ คนจึงเลือกที่จะหาซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ที่อยู่นอกเมือง แต่ยังเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ง่ายมากขึ้น

5 ทำเลที่ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากที่สุด

สำหรับภาพรวมทำเลที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่มีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

    • แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีราคาเพิ่มขึ้น 63% โดยมีปัจจัยสำคัญคือการมาถึงของรถไฟฟ้า
    • แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน มีราคาเพิ่มขึ้น 14% โดยมีปัจจัยสำคัญคือห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม
    • แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน มีราคาเพิ่มขึ้น 10%
    • แขวงสี่พระยา เขตบางรัก มีราคาเพิ่มขึ้น 9%
    • แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีราคาเพิ่มขึ้น 9%

โดยในทำเลลุมพินี สี่พระยา และปทุมวัน มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความเป็นทำเลที่อยู่ในเมือง ใกล้มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และพื้นที่ธุรกิจ

เมื่อแยกเป็นประเภทของที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ทำเลที่มีการเติบโตในด้านราคามากที่สุด แบ่งเป็น

คอนโดมิเนียม

    • แขวงบางไผ่ เขตบางแค มีราคาเพิ่มขึ้น 42%
    • แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีราคาเพิ่มขึ้น 15% จากการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
    • แขวงสี่พระยา เขตบางรัก มีราคาเพิ่มขึ้น 10%
    • แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน มีราคาเพิ่มขึ้น 14%
    • แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน มีราคาเพิ่มขึ้น 10%

บ้านเดี่ยว

    • แขวงอรุณอัมริมทร์ เขตบางกอกน้อย มีราคาเพิ่มขึ้น 21%
    • แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ มีราคาเพิ่มขึ้น 18%
    • แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง มีราคาเพิ่มขึ้น 18%
    • แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ มีราคาเพิ่มขึ้น 17%
    • แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน มีราคาเพิ่มขึ้น 15%

ทาวน์เฮาส์

    • แขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก มีราคาเพิ่มขึ้น 41%
    • แขวงโคกแฝด เขตหนอกจอก มีราคาเพิ่มขึ้น 24%
    • แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา มีราคาเพิ่มขึ้น 21%
    • แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง มีราคาเพิ่มขึ้น 19%
    • แขวงบางไผ่ เขตบางแค มีราคาเพิ่มขึ้น 15%

อุปทานที่อยู่อาศัยยังคงเหลือในตลาดจำนวนมาก

ในปีนี้จำนวนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง จากการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ๆ แต่หันไประบายสต็อกคงค้างแทน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่มีสงครามราคาอย่างรุนแรง ผู้ขายหลายคนจึงเลือกที่จะยังไม่ปล่อยขายในช่วงเวลานี้ เพื่อรอดูสถานการณ์และปล่อยขายในภายหลัง เพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีกว่า

นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562 จำนวนอุปทานหรือจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 336 จุด ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ในปีนี้ ที่ลดลงเหลือ 313 จุด ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงหลังการคลายล็อคดาวน์ในไตรมาส 3 ของปีนี้ อยู่ที่ 385 จุด คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 23% และ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

จำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดที่มีการปรับตัวทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงแสดงให้เห็นถึงความต้องการขายที่หยุดชะงักไปในช่วงล็อคดาวน์ และแสดงถึงอุปทานคงคงที่เหลืออยู่ในตลาดจำนวนมาก

5 ทำเลที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากที่สุด

    • แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง เพิ่มขึ้น 47%
    • แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน เพิ่มขึ้น 23%
    • แขวงคลองตัน เขตคลองเตย เพิ่มขึ้น 22%
    • แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา เพิ่มขึ้น 13%
    • แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้น 11%

ส่วนทำเลที่น่าเป็นห่วงจะเกิด Over Supply คือ ห้วยขวาง บางนา และสวนหลวง เนื่องจากทำเลเหล่านี้มีความต้องการซื้อที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

    • ห้วยขวาง จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 11% แต่ความต้องการซื้อลดลง 2%
    • บางนา จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 14% แต่ความต้องการซื้อลดลง 4%
    • สวนหลวง จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 47% แต่ความต้องการซื้อลดลง 5%

หากแบ่งแยกที่อยู่อาศัยเป็นประเภท จะพบว่าจำสัดส่วนอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จะแบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 88% บ้านเดี่ยว 7% และ ทาวน์เฮาส์ 5%

ความต้องการซื้อ (อุปสงค์) เปลี่ยนจากในเมืองเป็นนอกเมือง

แม้ว่าทำเลที่อยู่อาศัยที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะยังเป็นทำเลภายในเมือง แต่ความจริงแล้ว การขยายตัวของเมือง รถไฟฟ้า และความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคกว่า 46% ให้ความสนใจกับพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ โดยทำเลที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ

    • เขตมีนบุรี เพิ่มขึ้น 74%
    • เขตภาษีเจริญ เพิ่มขึ้น 61%
    • เขตสายไหม เพิ่มขึ้น 58%
    • เขตบางแค เพิ่มขึ้น 58%
    • เขตจตุจักร เพิ่มขึ้น 38%

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา