เจาะตลาดมือถือราคา 5,000 บาท: ความคุ้มค่า-พนักงานขาย-ช่องทางจำหน่าย คือปัจจัยสำคัญ

นอกจากกระแส 5G ที่ทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือในไทยกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง “โทรศัพท์มือถือระดับ 5,000 บาท” คืออีกตลาดที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตอนนี้ เพราะไม่ว่าใครๆ ก็อยากมี Smartphone ไว้ใช้งาน

smartphone entry

ต้องคุ้มค่าที่สุดในช่วง 5,000 บาท

ตลาด Smartphone ระดับเริ่มต้นจะมีราคาราว 5,000 บาท และผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าตัวนี้จะเน้นหนักไปที่ความคุ้มค่า หรือจ่ายเงินไป 5,000 บาท ต้องได้สิ่งที่ดีที่สุด ไล่ตั้งแต่ขนาด และความละเอียดของหน้าจอ, ความสามารถของกล้อง, ระบบประมวลผล, แบตเตอรี่ รวมถึงหน่วยความจำ

ทำให้แบรนด์ต่างๆ ที่ทำตลาดนี้ทั้ง Samsung รุ่น A31, Oppo รุ่น A53, Vivo รุ่น Y20 และ Poco รุ่น M3 ต่างพยายามใส่คุณสมบัติต่างๆ ลงไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความคุ้มค่ากับเงินราว 5,000 บาท ที่เสียไป รวมถึงจูงใจผู้บริโภคที่อาจเลือก Smartphone ราคาต่ำกว่า 3,000 บาท ให้ขยับขึ้นมาเลือกรุ่นที่ราคาสูงขึ้น

poco m3

สำหรับความคุ้มค่าข้างต้นสามารถตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ไล่ตั้งแต่การมีแบตเตอรี่เยอะทำให้การใช้งานไม่สะดุด, การมีระบบประมวลผลที่ประสิทธิภาพสูงทำให้การเล่นเกม หรือใช้งานทั่วไปทำได้ลื่นไหล และการถ่ายภาพที่สวย และทำได้หลายมุมมองย่อมตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่า

พนักงานขายคืออีกปัจจัยสำคัญ

ถัดจากการจูงใจด้วยความคุ้มค่า การใช้กลยุทธ์ให้พนักงานขายยืนตามช่องทางจำหน่ายก็คืออีกตัวแปรสำคัญในการจำหน่าย Smartphone รุ่นเริ่มต้นที่มีราคาราว 5,000 บาท เพราะถึงผู้บริโภคที่เลือกไปซื้อตามหน้าร้านสามารถคล้อยตามคำบรรยายเกี่ยวกับคุณสมบัติของ Smartphone ที่พนักงานขายของแบรนด์นั้นอธิบาย

samsung a31

ตัวอย่างที่ดีคือแบรนด์ Oppo และ Vivo ที่ใช้กลยุทธ์ปูพรมพนักงานขายไปยืนตามช่องทางจำหน่ายต่างๆ มาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มเลือกซื้อ Smartphone ราคาราว 5,000 บาท สามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ได้มีความจงรักภักดีกับแบรนด์ใดแบรนด์ไหน เพียงแต่หาความคุ้มค่าที่สุดเท่านั้น

ขณะเดียวกันการให้สิทธิประโยชน์กับร้านค้ารายย่อยต่างๆ ก็เป็นอีกช่องทางที่แบรนด์ Smartphone ที่ต้องการเจาะตลาด Smartphone ระดับ 5,000 บาท เพราะมีโอกาสที่ร้านค้ารายย่อยจะแนะนำสินค้ารุ่นนั้นๆ ให้กับผู้ซื้อ คล้ายกับกรณีปูพรมพนักงานขายตามช่องทางจำหน่ายต่างๆ

oppo a53

วางกลยุทธ์ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

สุดท้ายการทำตลาด Smartphone ราคา 5,000 บาท เรื่องกลยุทธ์ช่องทางจำหน่ายเป็นอีกเรื่องที่แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมที่สุดกับช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์ และออฟไลน์ โดยช่องทางออนไลน์ การนำข้อมูลเรื่องคุณสมบัติที่สื่อ หรือ Influencer ต่างๆ มารวบรวมเพื่อสื่อสารตรงไปที่ผู้ซื้อคือวิธีที่นิยม

เนื่องจากเมื่อสื่อสารเรื่องความคุ้มค่าไปให้ผู้สนใจซื้อ และผู้สนใจนั้นต่างไม่สนใจเรื่องแบรนด์ ทำให้พวกเขาสามารถกดสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ทันที ยิ่งถ้าแบรนด์มีการร่วมมือกับแพลตฟอร์ม E-Commerce หรือทำช่องทางจำหน่ายออนไลน์ของตัวเอง การปิดการขายย่อมมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

vivo y20

ส่วนช่องทางออฟไลน์อาจอ้างอิงจากหัวข้อพนักงานขายได้ เพราะแม้ผู้บริโภคจะศึกษาข้อมูลผ่านออนไลน์มาบ้าง แต่เมื่อมาเจอกับพนักงานขายของแบรนด์ต่างๆ ย่อมเกิดการคล้อยตาม และหากแบรนด์มีแคมเปญต่างๆ โดยเฉพาะการแถมของ ย่อมเป็นอีกกลยุทธ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพทางช่องทางจำหน่ายได้

สรุป

ตลาด Smartphone ราคา 5,000 บาท ค่อนข้างแตกต่างกับตลาดรุ่นระดับกลาง และระดับบน เพราะสองตลาดนั้นผู้บริโภคค่อนข้างศึกษาหาข้อมูล และมีแบรนด์ในใจอยู่แล้ว ทำให้ปัจจัยเรื่องพนักงานขาย หรือช่องทางจำหน่ายอาจไม่มีผลเท่าไรนัก และส่วนตัวเชื่อว่าตลาด Smartphone 5,000 บาทจะแข่งขันด้วยกลยุทธ์แบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา